บัญญัติ 10 ประการในการดูแลเท้า

บัญญัติ 10 ประการในการดูแลเท้า

 

1. ทำความสะอาดเท้า

- หมั่นล้างเท้าให้สะอาดทุกวันด้วยสบู่อ่อนๆ 

- เช็ดเท้าให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาดและนุ่ม  โดยเฉพาะบริเวณตามซอกนิ้วเท้า  เพื่อป้องกันการอับชื้น  ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเป็นเชื้อราที่เท้า

2. ตรวจดูเท้าทุกวันเพื่อค้นหาความผิดปกติ

- ควรตรวจเท้าทุกวัน  เพื่อค้นหาความผิดปกติ  เช่น  ตาปลา  หนังหนาๆ  ตุ่มพุพอง  รอยแตกของผิวหนัง  แผลอักเสบ  ปวด  บวม  แดง  จับดูรู้สึกร้อนๆ ผิวคล้ำหรือซีดผิดปกติ  เล็บขบ

- ส่วนบริเวณที่ยากต่อการมองเห็น  อาจใช้กระจกช่วยได้

3. ทาโลชั่นที่เท้าทุกวัน

- ในกรณีที่ผิวแห้งอาจทำให้มีรอยแตก  และเกิดการติดเชื้อได้ง่าย  ควรทาโลชั่นเพื่อให้ผิวชุ่มชื้นหลังอาบน้ำเช้า-เย็น

- การทาโลชั่น ควรหยดบนมือ  เกลี่ยบางๆ แล้วจึงลูบที่เท้าให้ทั่ว

- หลีกเลี่ยงการทาโลชั่นบริเวณซอกนิ้วเท้า เพื่อป้องกันการหมักหมม  ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อราได้

- ถ้าผิวแห้งชื้นมีเหงื่อออกง่ายควรหมั่นเช็ดเท้าให้แห้ง และทาแป้งให้ทั่วจะช่วยลดการอับชื้นได้

4. เลือกสวมถุงเท้าที่เหมาะสม

- ควรสวมถุงเท้าหรือถุงน่องทุกครั้งเมื่อสวมรองเท้า

- ถุงเท้าที่เลือกควรทำจากใยฝ้ายที่หนาพอควร  เนื้อนิ่ม  เนื่องจากใยฝ้ายจะช่วยให้การระบายอากาศดีขึ้น  ลดการอับชื้นของเท้าได้

- ควรเปลี่ยนถุงเท้าหรือถุงน่องทุกวัน  ไม่ควรใส่ซ้ำ  เพื่อไม่ให้หมักหมมเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

5. เลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม

- ควรสวมรองเท้าตลอดเวลาทั้งใน - นอกบ้าน  ห้ามเดินเท้าเปล่า

- สวมรองเท้าที่ไม่คับหรือหลวมจนเกินไปจะช่วยลดแรงกดใต้ฝ่าเท้าได้ดี  โดยเฉพาะรองเท้าที่มีแผ่นรองรับแรงกระแทกภายใน  เช่น รองเท้ากีฬาต่างๆ

6. ห้ามประคบร้อนหรือแช่เท้าในน้ำ

- หลีกเลี่ยงการแช่เท้า  เพื่อไม่ให้หนังเปื่อยง่าย

- พึงระวังในรายที่มีมือและเท้าชา  การแช่น้ำอุ่นหรือร้อนจัดเกินไปและประคบร้อนที่เท้า  อาจทำให้เกิดการพุพองและติดเชื้อได้ง่าย

7. เมื่อมีบาดแผลให้รีบดูแลรักษา

- ถ้ามีแผลอักเสบ  คือ ปวด บวม แดง  จับดูร้อนๆ หรือมีหนองควรปรึกษาแพทย์ทันที  เพื่อรับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก  ไม่ควรรักษาเอง

- ถ้าแผลยังไม่หายดี  อย่าเดินลงน้ำหนักเท้าข้างที่เป็นแผลนั้นไปมา  เพราะการเดินจะทำให้เท้ารับน้ำหนักตัวทำให้ปากแผลเปิด  แผลจะหายช้า  ให้นอนพัก  หรือนั่งเก้าอี้รถเข็น  หรือใช้ไม้พยุงตัว  ในกรณีที่ต้องการออกกำลังกาย  ใช้การออกกำลังกายด้วยแขน

8. ตัดเล็บอย่างถูกวิธี

- การตัดเล็บที่ถูกวิธีร่วมกับการใส่รองเท้าให้เหมาะสมจะช่วยลดการเกิดเล็บขบ  และแผลที่เท้าได้

- ควรตัดเล็บหลังจากอาบน้ำเสร็จ เพราะน้ำช่วยทำให้เล็บนิ่มขึ้นทำให้ตัดง่าย

- กรณีที่มีเล็บขบ  ตาปลา หรือหนังเท้าหนาๆ ควรหลีกเลี่ยงการตัดหรือซื้อยามาทาเอง  ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

- ถ้าไม่สามารถตัดเล็บตนเองได้  เช่น อาจมีปัญหาทางสายตา  มองไม่ชัด  ควรให้ญาติช่วยตัดให้  เพื่อป้องกันการเกิดแผลหรือปรึกษาแพทย์  พยาบาล  เพื่อรับคำแนะนำ

9. บริหารเท้าทุกวัน

- การบริหารเท้าเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ  จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดไปที่เท้าได้ดี

- ออกกำลังกาย  โดยการเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะๆ วันละ 20 - 30 นาที

10. งดการสูบบุหรี่

 

การป้องกัน

1. ดูแลรักษาเท้า  ตามบัญญัติ 10 ประการ

2. ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

3. เลือกรองเท้า  และอุปกรณ์เสริมที่เหมาะสม

 

หมั่นบริหารเท้าดังนี้

1. กระดกปลายนิ้วเท้า ขึ้นลง 10 ครั้ง

2. นวดฝ่าเท้า 10 ครั้ง

3. หมุนฝ่าเท้า 10 ครั้ง

4. หมุนส้นเท้า 10 ครั้ง

5. ยืดปลายเท้าขวาชี้ออก 10 ครั้ง

6. ยืดปลายเท้าขวาเข้าหาตัว

7. ยืดปลายนิ้ว 10 นิ้วเข้าหาตัว

8. ยืดปลายเท้า 2 ข้างสลับกัน

9. หมุนเท้าแต่ละข้าง

10. พักบริเวณเท้าโดยใช้อุ้งเท้าขยำกระดาษเป็นก้อนกลม