ไขมันพอกตับ

  • ขมันพอกตับคือการที่มีไขมันสะสมในตับมากกว่า 5% ของน้ำหนักตับ หากมีไขมันสะสมที่ตับมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับได้
  • ไขมันพอกตับจะมีอาการ ได้แก่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้เล็กน้อย ปวดหรือรู้สึกตึงใต้ชายโครงขวา หากมีอาการในระยะลุกลามจนถึงระดับตับแข็งก็จะมีอาการท้องหรือขาบวมน้ำ ผิวเหลืองจากดีซ่าน
  • สาเหตุของไขมันพอกตับแบ่งออกเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ และไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ โดยมาจากโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ขาดการออกกำลังกาย
  • การรักษาไขมันพอกตับสามารถทำได้ด้วยการตรวจเลือด ทำอัลตราซาวด์ ใช้เครื่องมือ FibroScan การเจาะชิ้นเนื้อตับ รวมถึงการปรับพฤติกรรม และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไขมันพอกตับ ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม เพราะไขมันเกาะตับไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในผู้ที่มีน้ำหนักเกินเท่านั้น แต่คนผอมก็เสี่ยงได้เช่นกัน ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่ควรใส่ใจและตรวจเช็กร่างกายก่อนที่อาการจะลุกลามจนยากต่อการรักษา บทความนี้พามาดูวิธีการรักษาอาการไขมันพอกตับ พร้อมเคล็ดลับป้องกันไขมันเกาะตับ และทำความเข้าใจอาการไขมันพอกตับก่อนลุกลามเป็นปัญหาสุขภาพ เพื่อชีวิตที่มีสุขภาพดี

รู้จักโรคไขมันพอกตับ คืออะไร

รู้จักโรคไขมันพอกตับ คืออะไร

ตับเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยทำหน้าที่หลายประการ ได้แก่ การผลิตน้ำดีที่ช่วยในการย่อยไขมันในลำไส้เล็ก สร้างโปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น อัลบูมิน การเก็บสะสมธาตุเหล็กและวิตามินต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนสารอาหารให้กลายเป็นพลังงาน นอกจากนี้ตับยังสร้างสารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ที่จำเป็นต่อการหยุดเลือดเมื่อเกิดบาดแผล และยังมีบทบาทในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการติดเชื้อ

ส่วนโรคไขมันพอกตับคือการที่มีไขมันสะสมในตับมากเกินไป โดยหากไขมันมีปริมาณมากกว่า 5% ของน้ำหนักตับ ก็ถือว่าเป็นไขมันเกาะตับ และสามารถนำไปสู่โรคตับอักเสบ ตับแข็ง และในระยะยาวอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับได้ โดยปกติแล้วร่างกายจะใช้ไขมันจากสองแหล่งใหญ่เป็นพลังงาน ได้แก่ ไขมันที่สะสมบริเวณหน้าท้อง และไขมันในตับ ซึ่งไขมันในตับเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุด หากเกิดการสะสมมากเกินไปที่ตับ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับและอาจพัฒนาไปสู่ตับแข็งหรือมะเร็งตับในที่สุด

สังเกตอาการของโรคไขมันพอกตับ

สำหรับผู้ที่มีไขมันพอกตับ มักไม่แสดงอาการผิดปกติที่ชัดเจน และตรวจพบโดยบังเอิญระหว่างการตรวจสุขภาพประจำปี หากมีอาการมักเป็นอาการทั่วไปที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น

  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้เล็กน้อย
  • ปวดหรือรู้สึกตึงใต้ชายโครงขวา

อาการในระยะที่โรคลุกลามจนถึงระดับตับแข็ง อาจมีอาการที่เด่นชัดมาก ได้แก่

  • ปวดท้องหรือรู้สึกอิ่มที่ด้านขวาของช่องท้อง
  • คลื่นไส้ เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด
  • ผิวเหลืองและตาขาวเหลือง จากอาการดีซ่าน
  • ท้องหรือขาบวม (บวมน้ำ)
  • รู้สึกเหนื่อยล้าหรือสับสน

โรคไขมันพอกตับมีกี่ระยะ?

โรคไขมันพอกตับมีกี่ระยะ?

โดยทั่วไปแล้วไขมันพอกตับมักไม่แสดงอาการในระยะแรก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเล็กน้อย ซึ่งโรคไขมันพอกตับสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  1. ไขมันพอกตับระยะแรกจะมีไขมันสะสมในเนื้อตับแต่ยังไม่มีการอักเสบหรือมีพังผืด
  2. ระยะสอง ตับเริ่มมีอาการอักเสบ หากปล่อยไว้นานเกิน 6 เดือนโดยไม่ดูแล อาจพัฒนาไปเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
  3. ไขมันพอกตับในระยะที่สาม จะมีการอับเสบรุนแรงจนทำให้เกิดพังผืดในตับ เซลล์ตับถูกทำลายและเริ่มแทนที่ด้วยพังผืด
  4. ระยะที่สี่ เซลล์ตับเสียหายมากจนตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ นำไปสู่ภาวะตับแข็งและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ

สาเหตุของโรคไขมันพอกตับ

เนื่องจากไขมันพอกตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ การรู้เท่าทันสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจึงช่วยให้สามารถป้องกันได้อย่างตรงจุด โดยปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดไขมันพอกตับ ได้แก่

  • ไขมันพอกตับเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol Fatty Liver Disease)เกิดจากการดื่มในปริมาณมากต่อเนื่องนาน แอลกอฮอล์รบกวนการเผาผลาญไขมันในตับ ทำให้ไขมันสะสมจนเกิดภาวะไขมันพอกตับ อาจลุกลามเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับได้ในระยะยาว
  • ไขมันพอกตับที่ไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ (Non-alcohol Related Fatty Liver Disease – NAFLD) มักเกิดจากโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง พฤติกรรมการกินอาหารที่มีไขมันหรือแป้งสูง ขาดการออกกำลังกาย ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ไวรัสตับอักเสบ หรือโรคทางพันธุกรรม

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดไขมันพอกตับได้แก่

  • กลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) เช่น รอบเอวเกิน 90 ซม. ในผู้หญิง และ 100 ซม. ในผู้ชาย ความดันโลหิตสูง ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง (≥150 มก./ดล.) มีไขมันดี (HDL) (น้อยกว่า 40 มก./ดล. ในผู้ชาย และน้อยกว่า 50 มก./ดล. ในผู้หญิง) และน้ำตาลในเลือดสูง มากกว่า 110 มก./ดล.)
  • โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง
  • การรับประทานอาหารที่มีพลังงานสูงเป็นประจำ เช่น อาหารที่มีไขมัน น้ำตาล หรือแป้งมาก
  • สตรีวัยหมดประจำเดือน
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยาสเตียรอยด์ และยาต้านไวรัสบางชนิด

ขั้นตอนการวินิจฉัยโรคไขมันพอกตับ

ขั้นตอนการวินิจฉัยโรคไขมันพอกตับ

สำหรับการวินิจฉัยโรคไขมันพอกตับสามารถทำได้โดยหลายวิธี ทั้งการตรวจเลือด การตรวจอัลตราซาวด์ การตรวจด้วยเครื่อง FibroScan และการตรวจชิ้นเนื้อตับ และมีรายละเอียดดังนี้

  1. การตรวจเลือดระยะแรกของไขมันพอกตับ ค่าตับอาจยังปกติ แต่หากมีตับอักเสบ ค่า ALT, AST, ALP จะสูงขึ้น ควรตรวจไวรัสตับอักเสบ B, C และโรคร่วม เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
  2. การตรวจอัลตราซาวด์ใช้ตรวจดูลักษณะโครงสร้างของตับและการสะสมไขมัน ซึ่งสามารถตรวจพบไขมันพอกตับได้เมื่อไขมันสะสมมากกว่า 30% แต่มีข้อจำกัดในกรณีผนังท้องหน้าหรือมีน้ำหนักตัวมาก
  3. การเจาะชิ้นเนื้อตับการรักษาไขมันพอกตับวิธีนี้จะใช้ในกรณีที่ต้องการวินิจฉัยชัดเจนหรือแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกัน ปัจจุบันไม่นิยมใช้วิธีนี้ในการวินิจฉัย เพราะมีทางเลือกอื่นที่ไม่ทำให้เจ็บปวดมากและให้ผลแม่นยำเช่นกัน
  4. การตรวจด้วยเครื่อง FibroScanเป็นเทคโนโลยีที่ใช้คลื่นเสียงวัดความยืดหยุ่นของตับเพื่อประเมินระดับพังผืดและปริมาณไขมันสะสมในตับ โดยวิธีวินิจฉัยไขมันพอกตับวิธีนี้เป็นวิธีที่รวดเร็ว ไม่มีการเจ็บตัว และยังให้ผลที่แม่นยำ ช่วยประเมินความรุนแรงของโรคและวางแผนการรักษาได้

การรักษาโรคไขมันพอกตับ

ในกระบวนการรักษาโรคไขมันพอกตับจะอิงจากระยะอาการความรุนแรงของโรค ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดและใช้ชีวิตอย่างปกติได้ รวมถึงการหาสาเหตุ โดยมีการรักษาดังนี้

การรักษาไขมันพอกตับในระยะเริ่มต้น (ระยะที่ 1 - 2)

การรักษาไขมันพอกตับในระยะนี้จะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เน้นผักและผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ในบางกรณีแพทย์อาจสั่งยาเพื่อช่วยลดไขมันในตับหรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

การรักษาไขมันพอกตับในระยะรุนแรง (ระยะที่ 3 - 4)

กระบวนการรักษาไขมันพอกตับ นอกจากการปรับพฤติกรรมแล้ว แพทย์จะเน้นการป้องกันภาวะแทรกซ้อน หากมีตับอักเสบร่วมด้วย อาจให้ยาลดการอักเสบ ยาลดน้ำหนัก หรือยาควบคุมไขมันในตับ พร้อมติดตามอาการอย่างใกล้ชิดด้วยการตรวจเลือดและอัลตราซาวด์เพื่อเฝ้าระวังภาวะตับแข็งและมะเร็งตับ

การป้องกันไม่ให้เป็นโรคไขมันพอกตับ

การป้องกันไม่ให้เป็นโรคไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ ภัยเงียบที่สามารถป้องกันได้ โดยมีแนวทางป้องกันอาการและปฏิบัติตามเพื่อลดความเสี่ยงไขมันพอกตับได้ดังนี้

  • ในกรณีที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย โดยลดน้ำหนักประมาณ 0.25-0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์จนถึงเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ โดยผสมผสานการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น เดินเร็ว 30 นาที และการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน เช่น ยกน้ำหนักแบบแรงกระแทกต่ำ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารไขมันต่ำ กากใยสูง และพลังงานต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น นม เนย กะทิ ชีส อาหารทอด รวมถึงลดปริมาณแป้งและน้ำตาลในแต่ละมื้อ
  • ควบคุมโรคประจำตัว เช่น เบาหวานและไขมันในเลือดสูง ด้วยการรับประทานยาอย่างเคร่งครัด ควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาและผลิตภัณฑ์เสริมที่ไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบภาวะไขมันพอกตับและความผิดปกติของตับ

การรักษาโรคไขมันพอกตับ ที่โรงพยาบาลวิภาวดี

ไขมันพอกตับเป็นภัยเงียบที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากไม่มีการตรวจสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ ก็อาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงได้โรงพยาบาลวิภาวดีมีบริการแบบ One Stop Servie ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย ให้คำปรึกษา และรักษาไขมันพอกตับอย่างตรงจุด มาดูกันว่าทำไมต้องรักษาไขมันพอกตับที่โรงพยาบาลวิภาวดี

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยไขมันพอกตับที่โรงพยาบาลวิภาวดีจะมีตั้งแต่การตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC การตรวจการทำงานของตับตรวจเอนไซม์ AST (SGOT) เอนไซม์ ALT (SGPT) และเอนไซม์ ALP ฯลฯ โดยการตรวจวินิจฉัยนี้จะอยู่ในโปรแกรมตรวจสุขภาพตับ

การรักษา

การรักษาไขมันพอกตับมีวิธีการรักษาด้วยเครื่อง FibroScanทำหน้าที่ในการตรวจพังผืดและไขมันสะสมในตับ โดยต้องงดน้ำและอาหารล่วงหน้า 3 ชั่วโมงก่อนตรวจ เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบ ไขมันพอกตับ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวาน และอ้วนลงพุง

ทีมแพทย์

โรงพยาบาลวิภาวดีมีทีมแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหารที่ชำนาญการและมากประสบการณ์ พร้อมให้การดูแลและรักษาไขมันพอกตับ โรคในระบบทางเดินอาหาร และโรคที่เกี่ยวข้องกับตับอย่างครอบคลุม ทั้งยังผ่านการอบรมเฉพาะทางด้านอายุรกรรมโรคระบบทางเดินอาหารและตับ จึงสามารถให้คำแนะนำ ตรวจวินิจฉัย และรักษาได้อย่างตรงจุด เพื่อส่งเสริมสุขภาพตับและระบบทางเดินอาหารให้แข็งแรงยั่งยืน

ข้อมูลการนัดหมาย

หากคุณต้องการติดต่อโรงพยาบาลวิภาวดี เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับตับ ไขมันพอกตับ สามารถสอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-058-1111, 02-561-1111 ต่อ 4525 หรือ 4534 ในเวลาทำการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07:00-20:00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08:30-19:30 น.

สิทธิการรักษาและค่าใช้จ่าย

หากสงสัยในสิทธิการรักษาและค่าใช้จ่ายสำหรับโรคไขมันพอกตับ สามารถติดต่อโรงพยาบาลวิภาวดีโดยตรง เพื่อสอบถามราคาค่ารักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับตับเพิ่มเติมได้ โดยโรงพยาบาลวิภาวดีมีโปรแกรมการรักษาไขมันพอกตับ ตรวจสุขภาพตับในราคาที่แตกต่างกันตามรูปแบบการรักษา

สรุป

ตับเป็นอวัยวะสำคัญ ทำหน้าที่ผลิตน้ำดีช่วยย่อยไขมัน สร้างโปรตีน เก็บสะสมธาตุเหล็กและวิตามิน รวมถึงเปลี่ยนสารอาหารเป็นพลังงาน โดยโรคไขมันพอกตับเกิดจากการสะสมไขมันในตับเกิน 5% ของน้ำหนักตับ ซึ่งอาจนำไปสู่ตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ ไขมันพอกตับจะไม่แสดงอาการในระยะแรกๆ แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องหรือรู้สึกอิ่มบริเวณด้านขวาของช่องท้อง ตัวเหลืองและผิวเหลืองจากอาการดีซ่าน สาเหตุของไขมันพอกตับมีทั้งจากแอลกอฮอล์และไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ เช่น เบาหวาน พฤติกรรมการกินและออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม

สำหรับการวินิจฉัยและรักษาไขมันพอกตับจะขึ้นอยู่กับอาการระดับความรุนแรงของโรค โดยใช้การตรวจเลือด อัลตราซาวด์ และ FibroScan สามารถรับการรักษาหรือตรวจวินิจฉัยได้ที่โรงพยาบาลวิภาวดีที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำแนะนำ เพื่อการรักษาอย่างตรงจุดและมีสุขภาพดี

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

ไขมันพอกตับ ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม หากคุณกำลังกังวลหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไขมันเกาะตับ เราได้รวบรวมคำถามและคำตอบเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและช่วยในการตัดสินใจดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด ดังนี้

โรคไขมันพอกตับอยู่ได้กี่ปี?

ภาวะไขมันพอกตับมักตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี โดยอาจพบค่าการทำงานของตับที่สูงผิดปกติหรือมีภาวะตับอักเสบ หากไม่ดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ อาจส่งผลกระทบในระยะยาวได้และนำไปสู่ภาวะตับแข็งได้ในอนาคต โดยทั่วไปไขมันพอกตับจะพัฒนาเป็นตับแข็งภายใน 10-15 ปี

ทําอย่างไรให้ค่าตับกลับมาปกติ?

การลดภาวะไขมันพอกตับให้กลับมาปกติสามารถทำได้โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการเผาผลาญไขมันและลดการสะสมไขมันในตับ การนอนพักผ่อนให้เพียงพอช่วยฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตับ ขณะเดียวกันการจัดการความเครียดด้วยกิจกรรมที่ชอบ เช่น การทำสมาธิ หรือการผ่อนคลาย ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดค่าตับสูงและส่งเสริมสุขภาพโดยรวม

วิตามินบํารุงตับมีอะไรบ้าง?

สำหรับการดูแลสุขภาพตับ วิตามินที่มีส่วนช่วยในการบำรุงตับก็เป็นตัวช่วยหนึ่ง โดยเลือกวิตามินที่มีสารสำคัญอย่างเลซิติน วิตามินอี วิตามินบี 1, 2, 6 และ 12 รวมถึงวิตามินซี

ความเครียดส่งผลต่อตับอย่างไร?

นอกจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและขาดการออกกำลังกายแล้ว ความเครียดยังส่งผลต่อการทำงานของตับ โดยมีกลไกดังนี้ ขาดออกซิเจนทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงตับได้น้อยลง เกิดอนุมูลอิสระ เกิดการรั่วเข้าของ Lipopolysacharide รวมถึงฮอร์โมนความเครียดที่ถูกกระตุ้นให้หลั่งมากเกินไปทำให้เซลล์ตับอักเสบได้

“ภูมิใจที่ได้ดูแลคุณ”

สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าที่

02-561-1111

02-058-1111


ทีมแพทย์ไขมันพอกตับ