- โรคลมชักคือภาวะที่สมองส่งคลื่นไฟฟ้าผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการชักหรือหมดสติเป็นช่วงๆ
- โรคลมชักจะมีอาการชักแบบกระตุกทั้งตัว หรือบางรายอาจกระตุกแค่อวัยวะบางส่วน บางรายอาจมีอาการเหม่อลอย หมดสติ ปัสสาวะราด หรือรู้สึกผิดปกติทางประสาทสัมผัส เช่น ได้กลิ่นแปลกๆ
- โรคลมชักเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม อุบัติเหตุทางสมอง โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อ หรือบางรายอาจไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
- วิธีรักษาโรคลมชักสามารถทำได้หลายวิธีตามความรุนแรงของอาการ ทั้งการใช้ยา ควบคุมอาหารแบบ Ketogenic การผ่าตัด หรือการกระตุ้นเส้นประสาท
โรคลมชัก เป็นภาวะผิดปกติทางสมองอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน เป็นโรคที่สามารถรักษาและควบคุมอาการได้หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม บทความนี้พาไปทำความรู้จักกับอาการของโรคลมชัก สาเหตุ ระยะเวลาการรักษา วิธีปฐมพยาบาลโรคลมชัก และกลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง
พร้อมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยและแนวทางการรักษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงค่าใช้จ่ายเบื้องต้นจากโรงพยาบาลวิภาวดี เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัววางแผนการรักษาและตัดสินใจเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้อย่างมั่นใจ
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Feb%204%20(%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%20%E0%B8%A5%E0%B8%A1%20%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%81)%20(2).jpg)
รู้จักโรคลมชัก คืออะไร
โรคลมชัก (Epilepsy) คือภาวะที่สมองทำงานผิดปกติชั่วขณะ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการชัก เกร็ง หรือหมดสติเป็นช่วงๆ โดยเกิดจากการทำงานผิดปกติของเซลล์ประสาทในสมองที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าผิดจังหวะ ซึ่งอาการชักอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังและมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ชนิดตามลักษณะของอาการที่แสดง ดังนี้
ลมชักชนิดเฉพาะที่ (Focal Seizures)
ลมชักชนิดเฉพาะที่เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมองเพียงบางส่วนหรือบางตำแหน่งเท่านั้น อาการที่แสดงออกจึงขึ้นอยู่กับบริเวณของสมองที่ได้รับผลกระทบ โดยอาจเริ่มจากการกระตุกของกล้ามเนื้อที่แขน ขา หรือใบหน้าเพียงข้างใดข้างหนึ่ง และบางรายอาจมีอาการรู้สึกคลื่นไส้ มึนงง หูแว่ว หรือเห็นแสงผิดปกติได้ก่อนจะชัก ซึ่งผู้ป่วยอาจรู้สึกตัวขณะเกิดอาการหรือไม่รู้สึกตัวเลยก็ได้
ลมชักชนิดทั่วไป (Generalized Seizures)
โรคลมชักชนิดทั่วไปเกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมองทั้งสองซีกพร้อมกัน ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการรับรู้หรือหมดสติทันที โดยมักมีอาการกระตุกหรือเกร็งทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้
ลมชักที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด (Unknown Onset Seizures)
ลมชักประเภทที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นโดยไม่สามารถระบุจุดกำเนิดของคลื่นไฟฟ้าผิดปกติในสมองได้อย่างแน่ชัดว่าเริ่มจากสมองส่วนไหน ซึ่งอาจเกิดจากข้อจำกัดในการสังเกตขณะเกิดอาการ หรือยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เพียงพอ เช่น ไม่มีภาพบันทึกวิดีโอหรือผลตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหมดสติหรือเกร็งกระตุกทันที โดยไม่มีใครเห็นลำดับอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น จึงทำให้การวินิจฉัยไม่สามารถจำแนกชนิดได้ชัดเจนตั้งแต่แรก
ลมชักที่ไม่สามารถจัดประเภทได้ (Unclassified Seizures)
ลมชักที่ไม่สามารถจัดประเภทได้ เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นแต่ไม่สามารถจัดให้อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับอาการไม่เพียงพอ หรือมีลักษณะอาการที่ไม่เข้าเกณฑ์จำแนกใดๆ โดยตรง เช่น อาจมีอาการหลายแบบผสมกัน หรือผู้ป่วยไม่สามารถอธิบายอาการได้ชัดเจน
กรณีนี้พบได้ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะเมื่อยังไม่มีผลตรวจทางคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) หรือผลตรวจไม่สามารถชี้ชัดแหล่งกำเนิดของคลื่นผิดปกติได้ ซึ่งแพทย์มักจะเฝ้าติดตามอาการเพิ่มเติม หรือใช้เทคโนโลยีเสริมในการวินิจฉัย เพื่อประเมินและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมในลำดับต่อไป
สังเกตอาการของโรคลมชักได้อย่างไร
อาการของโรคลมชักแสดงออกได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับชนิดของลมชักและบริเวณของสมองที่ได้รับผลกระทบ โดยอาการบางอย่างอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาที ขณะที่บางอาการอาจรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้
- อาการลมชักที่เกิดขึ้นเฉพาะอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งโดยจะมีอาการกระตุกที่แขน ขา หรือใบหน้า บางรายอาจรับรู้สิ่งผิดปกติ เช่น กลิ่น เสียง หรือภาพที่ไม่มีจริงร่วมด้วย
- อาการลมชักแบบเหม่อลอยผู้ป่วยจะมีอาการเหม่อลอยในช่วงที่มีอาการ มักมีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น ขยับปาก เดินวน หยิบของ โดยไม่รู้ตัว เมื่ออาการทุเลาแล้วอาจจำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย
- อาการลมชักแบบเหม่อนิ่งพบได้บ่อยในเด็ก ลักษณะคือผู้ป่วยจะหยุดนิ่งเฉียบพลัน เงียบ เหม่อลอย ไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวชั่วครู่ (ประมาณ 10 - 20 วินาที) แล้วกลับมาเป็นปกติ อาจเกิดหลายครั้งต่อวันโดยที่คนรอบข้างไม่ทันสังเกต
- อาการลมชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวจะมีอาการชักเกร็งกระตุกทั่วร่างกายโดยเริ่มจากอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง แล้วกลายเป็นชักทั้งตัวอย่างรุนแรง โดยผู้ป่วยมักหมดสติและอาจมีอาการกัดลิ้นหรือปัสสาวะราดร่วมด้วย
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Feb%204%20(%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%20%E0%B8%A5%E0%B8%A1%20%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%81)%20(3).jpg)
โรคลมชักเกิดจากอะไร
โรคลมชักเป็นโรคที่สามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้
- กรรมพันธุ์หรือความผิดปกติทางพันธุกรรมผู้ป่วยบางรายอาจมีความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการทำงานของสมอง ซึ่งอาจถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมหรือเกิดขึ้นเองก็ได้เช่นกัน
- ภาวะผิดปกติขณะคลอดหรือในช่วงปฐมวัยเช่น ภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด ศีรษะได้รับบาดเจ็บ สมองขาดเลือด หรือมีการติดเชื้อในสมองตั้งแต่เด็ก
- อุบัติเหตุทางสมองการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ การหกล้ม หรือกระแทกอย่างแรง อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคลมชักในภายหลังได้เช่นกัน
- โรคหลอดเลือดสมองหรือภาวะสมองขาดเลือด (Stroke)ผู้สูงอายุที่มีภาวะเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก จะมีความเสี่ยงเกิดลมชักจากความเสียหายของเนื้อสมองบริเวณนั้นได้
- เนื้องอกในสมองหรือภาวะเจริญผิดปกติของเนื้อเยื่อสมองการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติในสมองอาจรบกวนการส่งสัญญาณไฟฟ้าปกติของสมองจนก่อให้เกิดโรคลมชักได้
- การติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลางเช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) สมองอักเสบ (Encephalitis) หรือโรคพยาธิในสมอง ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคลมชักได้เช่นกัน
- ความผิดปกติของสมดุลสารเคมีในร่างกายเช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับโซเดียมหรือแคลเซียมผิดปกติ หรือการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปและหยุดกะทันหัน
- ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด (Idiopathic Epilepsy)ในบางรายอาจไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าโรคลมชักเกิดจากอะไร แต่มักพบว่าผู้ป่วยมีอาการชักโดยไม่มีโรคหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย
การแบ่งระยะของโรคลมชัก
โรคลมชักไม่ได้เป็นเพียงแค่อาการที่เกิดขึ้นชั่วขณะเท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในระยะต่างๆ ซึ่งแต่ละระยะมีผลต่อแนวทางการวินิจฉัย การติดตามอาการ และการรักษาอย่างมีระบบ โดยทั่วไปสามารถแบ่งระยะของโรคลมชักออกได้เป็น 4 ระยะหลัก ดังนี้
- ระยะก่อนเกิดอาการชัก (Preictal Phase)บางรายอาจมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าก่อนเกิดอาการชัก เช่น รู้สึกแปลกๆ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลง อาการเหล่านี้เรียกว่า Aura ซึ่งเกิดจากสมองเริ่มมีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้า หากผู้ป่วยสังเกตและรับรู้ช่วงนี้ได้ อาจลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บโดยเตรียมตัวให้ปลอดภัยก่อนเกิดอาการได้
- ระยะเกิดอาการชัก (Ictal Phase)เป็นช่วงที่เกิดอาการชักขึ้นจริง โดยมีลักษณะแตกต่างกันตามชนิดของลมชัก เช่น เกร็ง กระตุก เหม่อลอย หรือหมดสติ อาจมีอาการหลายวินาทีจนถึงหลายนาที ซึ่งหากสามารถบันทึกรายละเอียดอาการในระยะนี้อย่างชัดเจน จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยชนิดของลมชักและเลือกยาที่เหมาะสมได้แม่นยำขึ้น
- ระยะหลังชัก (Postictal Phase)หลังจากอาการชักสิ้นสุด ผู้ป่วยมักมีอาการสับสน เหนื่อยล้า ง่วงนอน หรือเจ็บกล้ามเนื้อ และอาจใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งในระยะนี้ควรให้ผู้ป่วยพักผ่อน และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยเลี่ยงการปลุกหรือเคลื่อนย้ายอย่างรุนแรง
- ระยะพัก (Interictal Phase)ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่ในสมองยังมีคลื่นไฟฟ้าผิดปกติอยู่ ระยะพักถือว่ามีความสำคัญมากในการวางแผนการรักษา เนื่องจากเป็นช่วงที่แพทย์สามารถตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เพื่อดูการทำงานของสมองในขณะที่ไม่มีอาการและวางแผนป้องกันการเกิดอาการชักซ้ำในอนาคตได้
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Feb%204%20(%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%20%E0%B8%A5%E0%B8%A1%20%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%81)%20(4).jpg)
กลุ่มไหนที่เสี่ยงเป็นโรคลมชัก
โรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย แต่มีบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป เนื่องจากมีปัจจัยกระตุ้นหรือภาวะทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองโดยตรง โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่
- ทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก เพราะเสี่ยงจากภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด ภาวะติดเชื้อในสมอง หรือความผิดปกติทางพัฒนาการของสมอง
- ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง สมองเสื่อม หรือได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคลมชัก
- ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุทางสมองหรือได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะรุนแรง
- ผู้ที่มีเนื้องอกหรือความผิดปกติของเนื้อเยื่อสมอง
- ผู้ที่ใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักแล้วหยุดกะทันหัน
การเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ และการตรวจสุขภาพประจำปีร่วมกับการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
การตรวจวินิจฉัยโรคลมชัก
การวินิจฉัยโรคลมชักต้องอาศัยข้อมูลหลายด้านร่วมกัน โดยแพทย์จะประเมินอย่างละเอียดเพื่อแยกโรคลมชักออกจากโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกัน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหมดสติจากหัวใจ หรืออาการทางจิตเวช ซึ่งวิธีการวินิจฉัยที่ใช้ทั่วไป มีดังนี้
- ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อประเมินลักษณะของอาการชัก เช่น ระยะเวลา ลักษณะอาการก่อน-ระหว่าง-หลังชัก ความถี่ของการเกิด และปัจจัยกระตุ้น รวมถึงประวัติครอบครัว การเจ็บป่วย และการใช้ยา
- การตรวจเลือดและสารเคมีในร่างกายเพื่อหาความผิดปกติ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับโซเดียมหรือแคลเซียมผิดปกติ การติดเชื้อ หรือภาวะเมตาบอลิซึมบางอย่างที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชัก
- การบันทึกวิดีโอขณะเกิดอาการ (Video EEG Monitoring)ในกรณีที่อาการไม่ชัดเจนหรือวินิจฉัยยาก แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพื่อบันทึกภาพพร้อมคลื่นไฟฟ้าสมองตลอด 24 ชั่วโมง
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Feb%204%20(%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%20%E0%B8%A5%E0%B8%A1%20%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%81)%20(7).jpg)
วิธีการรักษาโรคลมชัก
การรักษาโรคลมชัก แพทย์จะประเมินอาการอย่างละเอียดเพื่อเลือกวิธีการที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล ซึ่งวิธีที่นิยมใช้ในการรักษาโรคลมชักมีดังนี้
1. การตรวจคลื่นสมอง (EEG: Electroencephalography)
การตรวจคลื่นสมองเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ประกอบการวินิจฉัยและช่วยกำหนดแนวทางการรักษาโรคลมชักได้อย่างแม่นยำ โดยแพทย์จะติดแผ่นอิเล็กโทรดเล็กๆ ไว้บนหนังศีรษะของผู้ป่วย เพื่อวัดและบันทึกกิจกรรมของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ซึ่งใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 - 60 นาที หรืออาจนานกว่านั้น ในกรณีที่ต้องการตรวจขณะหลับหรือมีการกระตุ้นให้เกิดอาการชักจำลอง
วิธีนี้จะช่วยระบุชนิดของลมชักและตำแหน่งของความผิดปกติในสมองได้อย่างแม่นยำ รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการวางแผนรักษาระยะยาวและการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดรักษาในบางกรณี
2. การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI: Magnetic Resonance Imaging)
MRI เป็นการตรวจทางรังสีวินิจฉัยที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุในการสร้างภาพรายละเอียดของเนื้อสมอง โดยไม่ใช้รังสีเอกซเรย์ ทำให้สามารถเห็นโครงสร้างภายในสมองได้อย่างชัดเจนในหลายมิติ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยระบุสาเหตุของโรคลมชักที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างสมอง เช่น เนื้องอก แผลเป็น รอยโรคแต่กำเนิด หรือเนื้อสมองฝ่อได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุด และประเมินความเหมาะสมของการรักษาด้วยยา หรือการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อยาได้ดียิ่งขึ้น
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Feb%204%20(%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%20%E0%B8%A5%E0%B8%A1%20%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%81)%20(5).jpg)
วิธีป้องกันไม่ให้เสี่ยงเป็นโรคลมชัก
แม้โรคลมชักบางชนิดจะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดจากพันธุกรรมหรือความผิดปกติของสมองแต่กำเนิด แต่ยังมีวิธีการดูแลสุขภาพที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันปัจจัยกระตุ้นที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคลมชักได้ ดังนี้
- ป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะเช่น สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ คาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ และป้องกันการหกล้มในเด็กและผู้สูงอายุ
- ดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์และคลอดเพื่อลดความเสี่ยงของทารกต่อภาวะสมองขาดออกซิเจน หรือภาวะคลอดยากที่อาจส่งผลต่อสมองของเด็กในระยะยาว
- ควบคุมโรคเรื้อรังเช่น เบาหวาน และความดันโลหิตสูง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคลมชักในผู้สูงอายุ
- หลีกเลี่ยงสารเสพติดและการดื่มแอลกอฮอล์เพราะกรณีหยุดแอลกอฮอล์แบบเฉียบพลันอาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และลดความเครียดเพราะการอดนอนและความเครียดถือเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญของอาการชักในผู้ที่มีความเสี่ยง
- หลีกเลี่ยงแสงกะพริบหรือการจ้องหน้าจอเป็นเวลานานโดยเฉพาะในผู้ที่มีความไวต่อแสง หรือมีประวัติอาการชักจากสิ่งกระตุ้นทางสายตาได้
- ตรวจสุขภาพสมองเมื่อมีอาการผิดปกติเช่น เวียนศีรษะ เหม่อลอยบ่อย หรือหมดสติชั่วคราว ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ
/Vibhavadi%20Hospital%20-%20Feb%204%20(%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%20%E0%B8%A5%E0%B8%A1%20%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%81)%20(6).jpg)
การรักษาโรคลมชัก ที่โรงพยาบาลวิภาวดี
โรงพยาบาลวิภาวดีมุ่งมั่นให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักแบบครบวงจร (One Stop Service) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่สะดวกสบายและครอบคลุมทุกด้าน ดังนี้
การตรวจวินิจฉัย
ที่โรงพยาบาลวิภาวดีมีบริการตรวจวินิจฉัยโรคลมชักอย่างละเอียด ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท โดยเน้นการประเมินอาการด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) และการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างตรงจุดมากที่สุด
การรักษา
โรงพยาบาลวิภาวดีให้การรักษาโรคลมชักหลายรูปแบบตามอาการ ดังนี้
- การใช้ยากันชักผู้ป่วยประมาณ 70% สามารถควบคุมอาการชักได้ด้วยการรับประทานยาสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น การอดนอน การดื่มสุรา
- การผ่าตัดรักษาโรคลมชัก (Epilepsy Surgery)เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชักมาตรฐาน หรือมีอาการชักที่ควบคุมได้ยาก โดยแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดนำเนื้อสมองส่วนที่ทำให้เกิดการชักออก เพื่อลดหรือหยุดอาการชัก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
- การกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve Stimulation)เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยวิธีการรักษานี้จะใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าขนาดเล็กฝังไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกเชื่อมต่อกับสายไฟที่พันรอบเส้นประสาทเวกัสบริเวณลำคอ ซึ่งเครื่องจะส่งกระแสไฟฟ้าเป็นจังหวะสม่ำเสมอเพื่อช่วยควบคุมสัญญาณไฟฟ้าในสมองและความรุนแรงของอาการชักได้
แม้ VNS จะไม่สามารถหยุดอาการชักได้ทั้งหมด แต่ผู้ป่วยจำนวนมากมักมีอาการดีขึ้น และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ
- การควบคุมอาหารแบบ Ketogenic Dietเป็นการควบคุมอาหารที่มีสัดส่วนไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ และโปรตีนปานกลาง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะคีโตซิส (Ketosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายเปลี่ยนจากการใช้กลูโคสเป็นพลังงานมาใช้คีโตนที่ผลิตจากไขมันแทน ซึ่งวิธีนี้สามารถช่วยลดความถี่ของอาการชักได้ เพราะอาจช่วยลดความไวของเซลล์สมองต่อการกระตุ้นที่ทำให้เกิดชักได้
ทีมแพทย์
โรงพยาบาลวิภาวดีมีทีมแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทและสมอง (Neurology) ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักโดยตรง ครอบคลุมทั้งด้านการวินิจฉัย รักษา ติดตามอาการ และฟื้นฟูสมรรถภาพ ดังนี้
- อายุรแพทย์ระบบประสาทผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรคลมชักจากการซักประวัติ อาการ การแปลผลคลื่นสมอง (EEG) และภาพ MRI
- ศัลยแพทย์ระบบประสาทสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดนำจุดกำเนิดการชักออก หรือฝังเครื่องกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (VNS)
- แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและจิตแพทย์สำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีผลกระทบทางอารมณ์ หรือปัญหาการปรับตัวในชีวิตประจำวัน
- ทีมพยาบาลวิชาชีพและนักโภชนาการที่คอยให้คำแนะนำเรื่องการใช้ยา การปฏิบัติตัว รวมถึงการวางแผนอาหาร เช่น Ketogenic Diet ในผู้ป่วยบางราย
ทั้งยังมีความร่วมมือของทีมสหสาขาวิชาชีพภายในโรงพยาบาลวิภาวดี ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยโรคลมชักได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพในทุกระยะของการรักษา
ข้อมูลการนัดหมาย
หากต้องการเข้ารับการตรวจหรือรักษาโรคลมชักที่โรงพยาบาลวิภาวดี ผู้ป่วยสามารถนัดหมายล่วงหน้าได้อย่างสะดวกผ่านหลายช่องทาง ดังนี้
- โทรติดต่อ0-2561-1111 ตลอด 24 ชั่วโมง
- Line Official Account@Vibhavadihospital
- เว็บไซต์โรงพยาบาลวิภาวดีwww.vibhavadi.comและเลือกเมนู “นัดหมายแพทย์” กรอกข้อมูลเบื้องต้น จากนั้นเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับเพื่อยืนยันวันและเวลานัดหมายอีกครั้ง
- Walk-in (เข้ารับบริการโดยไม่ได้นัดล่วงหน้าสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือหากไม่สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ สามารถเข้ามาติดต่อที่แผนกอายุรกรรมระบบประสาท ณ โรงพยาบาลวิภาวดีโดยตรง ทั้งนี้ แนะนำให้โทรแจ้งล่วงหน้าเพื่อความสะดวกและลดเวลารอคอย
สิทธิการรักษาและค่าใช้จ่าย
โรงพยาบาลวิภาวดีมีทางเลือกด้านสิทธิการรักษาและระบบชำระเงินที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวกและเหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยสิทธิที่สามารถใช้ได้และค่าใช้จ่ายเบื้องต้น มีรายละเอียดดังนี้
สิทธิการรักษาที่รองรับ
- ชำระเงินสด (Self-Pay)ผู้ป่วยสามารถเลือกชำระค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวเอง โดยสามารถสอบถามค่าบริการเบื้องต้นล่วงหน้าได้จากเจ้าหน้าที่ เพื่อวางแผนค่าใช้จ่ายได้ชัดเจน
- สิทธิประกันสุขภาพเอกชนโรงพยาบาลวิภาวดีเป็นคู่สัญญากับบริษัทประกันสุขภาพหลายแห่ง ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิคุ้มครองค่ารักษาโรคลมชักตามแผนประกันที่ถืออยู่ได้
- สิทธิสวัสดิการข้าราชการ (กรมบัญชีกลาง)สำหรับข้าราชการและครอบครัว สามารถใช้สิทธิรักษาโรคลมชักได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยควรนำใบส่งตัวจากต้นสังกัดมาด้วยหากจำเป็น
- สิทธิประกันสังคม (เฉพาะผู้ที่เลือกโรงพยาบาลวิภาวดีเป็นสถานพยาบาลหลัก)กรณีผู้ป่วยใช้สิทธิประกันสังคมและได้เลือกโรงพยาบาลวิภาวดีเป็นโรงพยาบาลประจำ สามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ
ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น
- ค่าปรึกษาแพทย์เฉพาะทางประมาณ 500 - 1,200 บาท
- ค่าตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)เริ่มต้นประมาณ 3,000 - 6,000 บาท
- ค่าตรวจ MRI สมองประมาณ 8,000 - 15,000 บาท
- ค่ายาและการรักษาต่อเนื่องขึ้นอยู่กับแผนการรักษา เช่น ประเภทของยากันชักหรือแนวทางอื่นที่แพทย์กำหนด
หมายเหตุค่ารักษาอาจแตกต่างตามแผนการรักษาและสิทธิที่ผู้ป่วยมีอยู่ แนะนำให้ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลล่วงหน้าเพื่อประเมินค่าใช้จ่ายเฉพาะกรณีเพิ่มเติม
สรุป
โรคลมชักเป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้เกิดอาการชักในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จากหลายวิธี ทั้งการซักประวัติโดยละเอียด การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) และการตรวจ MRI สมอง เพื่อค้นหาสาเหตุและตำแหน่งของความผิดปกติ โดยแนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของอาการ เช่น การใช้ยา ผ่าตัด หรือกระตุ้นเส้นประสาท
ซึ่งที่โรงพยาบาลวิภาวดีมีบริการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักแบบครบวงจร (One Stop Service) โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมเครื่องมือทันสมัย และรองรับสิทธิการรักษาหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นใจได้ในทุกขั้นตอนของการรักษา
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)
หลายคนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับโรคลมชัก หรืออาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยในชีวิตประจำวัน เราจึงได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยพร้อมคำตอบที่กระชับและเข้าใจง่าย ดังนี้
โรคลมชักอันตรายมากไหม?
โดยทั่วไปแล้วโรคลมชักไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิตหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถควบคุมอาการและใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่โรคลมชักเกิดขึ้นบ่อยหรือเกิดในสถานการณ์เสี่ยง เช่น ขณะขับรถ ว่ายน้ำ หรืออยู่ตามลำพัง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายตามมาได้ จึงควรได้รับการวินิจฉัยและดูแลโดยแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินอาการว่ายังคงอยู่ในระดับที่ปลอดภัยไหม
โรคลมชักห้ามกินอะไร?
สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักไม่ได้มีข้อกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามกินอะไร แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่กระตุ้นระบบประสาทหรือรบกวนการทำงานของยา เช่น
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป
- อาหารที่มีสารปรุงแต่งหรือผงชูรสในปริมาณสูง
- อาหารที่มีโซเดียมสูง (หากแพทย์แนะนำให้ควบคุมโซเดียมในกรณีรับประทานยาบางชนิด)
ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ควบคุมอาหารแบบ Ketogenic Diet โดยเฉพาะในเด็กที่ดื้อต่อยากันชัก
มีวิธีปฐมพยาบาลหากโรคลมชักกำเริบไหม?
หากพบผู้ป่วยมีอาการลมชัก วิธีปฐมพยาบาลโรคลมชักในเบื้องต้นสามารถทำได้ ดังนี้
- วางผู้ป่วยในที่ปลอดภัย ห่างจากของมีคมหรือของแข็ง
- จับให้นอนตะแคง เพื่อป้องกันสำลักน้ำลายหรืออาเจียน
- ห้ามจับตัวแรงและห้ามยัดของใดๆ เข้าไปในปากทุกกรณี
- ห้ามปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียวเพียงลำพังโดยเด็ดขาด
- ไม่ควรพยายามห้ามการชัก ให้เฝ้ารอจนกว่าอาการจะสงบเอง
- จับเวลาหากชักเกิน 5 นาที หรือชักหลายครั้งโดยไม่ฟื้นสติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที
โรคลมชักรักษาหายได้ไหม?
โรคลมชักสามารถควบคุมอาการให้สงบได้นานหลายปี หรือในบางรายอาจหายขาดได้ โดยเฉพาะในเด็กที่มีลมชักบางประเภท อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ในการรักษาให้หายขึ้นอยู่กับชนิดของลมชัก อายุที่เริ่มเป็น ระยะเวลาที่เป็น และการตอบสนองต่อการรักษา ผู้ป่วยที่รักษาอย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์จะมีโอกาสควบคุมอาการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในระยะยาว