โรคมะเร็งรังไข่

  • โรคมะเร็งรังไข่คือการเติบโตของเซลล์ในรังไข่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นก้อนเนื้องอก และกลายเป็นเซลล์มะเร็ง
  • อาการของโรคมะเร็งรังไข่ที่พบได้ในผู้ป่วย มักเป็นอาการที่ไม่แน่ชัด แต่สามารถสังเกตได้จากการผิดปกติของร่างกาย เช่น ท้องโตผิดปกติ ปวดท้องน้อย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย
  • โรคมะเร็งรังไข่เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น พันธุกรรม ฮอร์โมน ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • วิธีรักษาโรคมะเร็งรังไข่สามารถทำได้โดย การผ่าก้อนเนื้องอก การใช้ยาหรือสารเคมี รักษาแบบพุ่งเป้า ใช้ฮอร์โมน รักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด และการรักษาด้วยการประคับประคอง

มะเร็งรังไข่เป็นโรคที่เกิดในเฉพาะผู้หญิง พบได้บ่อยเป็นอันดับสองของโรคมะเร็งเกี่ยวกับระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เนื่องจากมะเร็งรังไข่ไม่มีอาการชัดเจนในระยะแรก ทำให้การตรวจแต่เนิ่นๆ ช่วยให้มีโอกาสในการรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งมาดูอาการ สาเหตุ ระยะการรักษาของกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งรังไข่ พร้อมข้อมูลการตรวจวินิจฉัย การรักษา ทีมแพทย์ ข้อมูลการนัดหมาย สิทธิการรักษา ค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลวิภาวดี

รู้จักโรคมะเร็งรังไข่ คืออะไร

รู้จักโรคมะเร็งรังไข่ คืออะไร

มะเร็งรังไข่คือการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและผิดปกติของเซลล์ในรังไข่ จนกลายเป็นก้อนเนื้องอกที่พัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง โดยมะเร็งรังไข่แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว (Epithelial Ovarian Cancer) พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป, เนื้องอกบริเวณเซลล์สืบพันธุ์ (Germ cell tumors) พบได้ในวัยเด็กหรือหญิงสาว และเนื้องอกบริเวณเนื้อเยื่อสโตรมา (Stromal tumors) พบได้น้อยมาก แต่สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรก

สังเกตอาการของโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างไร

สังเกตอาการของโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างไร

ในระยะเริ่มต้นของมะเร็งรังไข่ มักไม่แสดงอาการเริ่มแรกที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามเราสามารถสังเกตอาการที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งรังไข่ได้ว่ามีอาการเป็นอย่างไรได้บ้าง ดังนี้

  • เบื่ออาหาร
  • ช่องท้องโตกว่าผิดปกติ
  • อึดอัดในบริเวณช่องท้อง
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ จากอาหารไม่ย่อย
  • ปวดท้องน้อย และคลำเจอก้อนเนื้อในท้องน้อย
  • น้ำหนักเพิ่มหรือลดลงผิดปกติ
  • ปัสสาวะบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีไข้ต่ำบ่อยๆ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และรู้สึกไม่มีแรง

โรคมะเร็งรังไข่เกิดจากอะไร

โรคมะเร็งรังไข่เกิดจากอะไร

โรคมะเร็งรังไข่เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติในรังไข่ และอาจเกิดจากหลายปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนี้

  • อายุเมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงจะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยส่วนใหญ่จะพบมะเร็งรังไข่ในผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรมหากคนในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งเต้านมหรือมะเร็งลำไส้ รวมถึงการมียีนส์ในร่างกายที่ผิดปกติ เช่น BRCA1 BRCA2 BRIP1 RAD51C และ RAD51D อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้
  • ฮอร์โมนการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนหรือใช้ฮอร์โมนทดแทนช่วงหมดวัยประจำเดือน อาจกระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็ง
  • ประจำเดือนหากมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี และประจำเดือนหมดช้ากว่าอายุ 55 ปี ก็มีโอกาสในการเป็นมะเร็งรังไข่มากขึ้น
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
  • ปัจจัยสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเช่น การสูบบุหรี่ กินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และไม่ออกกำลังกาย ส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติ

การแบ่งระยะของโรคมะเร็งรังไข่

การแบ่งระยะของโรคมะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตามระบบของ FIGO (International Federation of Gynecology and Obstetrics) ได้แก่

  • ระยะที่ 1 (Stage I) เซลล์มะเร็งอยู่ในเฉพาะรังไข่
  • ระยะที่ 2 (Stage II) มะเร็งลุกลามไปยังมดลูก ท่อนำไข่ และอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
  • ระยะที่ 3 (Stage III) มะเร็งแพร่กระจายมะเร็งกระจายนอกอุ้งเชิงกราน และแพร่กระจายไปยังเยื่อบุช่องท้อง
  • ระยะที่ 4 (Stage IV) มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะนอกช่องท้อง เช่น ปอด ตับ และสมอง

ผลกระทบของระยะโรคมีความสำคัญต่อแนวทางการรักษา คือ ระยะเริ่มต้นจะใช้การผ่าตัดเพื่อนำก้อนมะเร็งออก อาจใช้เคมี ฉายรังสี รักษาด้วยฮอร์โมน และการใช้ระบบภูมิคุ้มการของร่างกายร่วมด้วย เพื่อควบคุมการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ส่วนในระยะสุดท้าย จะเน้นที่การบรรเทาอาการและการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรค

กลุ่มไหนที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งรังไข่

กลุ่มไหนที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งรังไข่

กลุ่มที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งรังไข่ ได้แก่ ผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม หรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรกน้อยกว่า 12 ปีและผู้ที่หมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ปี ผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ ต้องใช้การตรวจหลายวิธีร่วมกัน เพื่อให้แพทย์สามารถยืนยันและประเมินผลของเกิดโรคได้ เช่น ตรวจภายในและคลำหน้าท้องเพื่อหาก้อนเนื้อหรือความผิดปกติในรังไข่ ตรวจเอนไซม์ CA-125 ในเลือด ใช้วิธีการตรวจอัลตราซาวด์ ทำ CT scan หรือ MRI เพื่อดูขนาดและลักษณะของรังไข่ และการผ่าตัดเพื่อเก็บเนื้อเยื่อไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง

วิธีการรักษาโรคมะเร็งรังไข่

วิธีการรักษาโรคมะเร็งรังไข่

โดยแนวทางการรักษามะเร็งรังไข่ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ชนิดมะเร็ง และสุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งเป็น 6 วิธีการรักษา ดังนี้

1. รักษาด้วยการผ่าตัด

วิธีการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค หากพบมะเร็งรังไข่ข้างเดียว อาจผ่าตัดด้วยการเอารังไข่ออก แต่หากตรวจพบมะเร็งรังไข่ทั้งสองข้างและมดลูก รวมถึงอวัยวะอื่นๆ เช่น ลำไส้หรือตับ ก็ต้องผ่าตัดออกทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น

2. รักษาด้วยเคมีบำบัด

การรักษาด้วยเคมีบำบัดทำได้ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด โดยการฉีดเข้าเส้นเลือดหรือการรับประทานยา การทำเคมีบำบัดก่อนผ่าตัดจะช่วยลดขนาดของเนื้องอกและทำให้ผ่าตัดง่ายขึ้น แต่หากทำหลังผ่าตัดจะช่วยทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่ และลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ

3. รักษามะเร็งด้วยยาเฉพาะเจาะจง

ใช้ยาสำหรับกำจัดเซลล์มะเร็งโดยตรงและไม่ทำลายเซลล์ปกติในร่างกาย ซึ่งจะช่วยยับยั้งการทำงานของโปรตีนที่มีส่วนช่วยให้เซลล์มะเร็งเติบโต เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัด จึงมักใช้ร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด

4. รักษาด้วยฮอร์โมน

เซลล์มะเร็งอย่างมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านม สามารถเติบโตได้ดีจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำการใช้ยาฮอร์โมน สามารถช่วยลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย และยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง มักใช้ในผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง หรือในกรณีที่มะเร็งการกลับเป็นซ้ำ

5. รักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

เซลล์มะเร็งจะสร้างโปรตีนเพื่อซ่อนตัวจากระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ แต่วิธีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายสามารถมองเห็นและทำลายเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นได้

6. รักษาด้วยวิธีประคับประคอง

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ การรักษาด้วยวิธีประคับประคองจะช่วยเสริมการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรค และเพิ่มกำลังใจให้กับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจมากขึ้น

วิธีป้องกันไม่ให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งรังไข่

แม้ว่ายังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งรังไข่อย่างเฉพาะเจาะจง แต่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ด้วยแนวทางต่างๆ เช่น

  • กินยาคุมกำเนิดต่อเนื่องนาน 5 ปีขึ้นไป เพื่อลดการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ตรวจสุขภาพประจำปีและอัลตราซาวด์อุ้งเชิงกรานสำหรับผู้หญิงที่อายุ 35 ขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกาย
  • หากมีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยง

การรักษาโรคมะเร็งรังไข่ ที่โรงพยาบาลวิภาวดี

การรักษาโรคมะเร็งรังไข่ ที่โรงพยาบาลวิภาวดี

การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่รวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ โดยที่โรงพยาบาลวิภาวดีมีบริการแบบ One Stop Service ที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่ ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่องตลอดการรักษา

การตรวจวินิจฉัย

เริ่มต้นด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกาย เช่น ตรวจภายใน ตรวจเลือด หรืออัลตราซาวด์ เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการวินิจฉัยโรค และวางแผนการรักษา

การรักษา

มีวิธีการรักษาที่ทันสมัยที่เหมาะกันระยะของโรค เช่น การผ่าตัด เคมีบำบัด รักษาด้วยรังสี รักษาด้วยฮอร์โมน รักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด และรักษาแบบประคับประคอง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในขั้นตอนการรักษา

ทีมแพทย์

มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งที่พร้อมให้การวินิจฉัยและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และยังมีทีมพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์คอยให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วยระหว่างและหลังการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลการนัดหมาย

ผู้ที่ต้องการเข้ารับการตรวจหรือรับคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็งรังไข่ที่โรงพยาบาลวิภาวดี สามารถสอบถามเพิ่มเติม โทร 02-561-1111 ต่อ 2219-20 โดยเปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08:00 - 20:00 น.

สิทธิการรักษาและค่าใช้จ่าย

ที่โรงพยาบาลวิภาวดี มีสิทธิการรักษาและค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับโปรแกรมในการตรวจรักษา โดยผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิได้ตามประเภทต่างๆ ได้แก่ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันกลุ่ม การชำระเงินด้วยตนเอง และแพ็กเกจกับโปรโมชันพิเศษตามสิทธิของโรงพยาบาล

สรุป

มะเร็งรังไข่เป็นที่พบในผู้หญิง สาเหตุของมะเร็งรังไข่เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ในรังไข่ รวมถึงเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น พันธุกรรม การกลายพันธุ์ของยีน (เช่น BRCA1 และ BRCA2) ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจน ประวัติครอบครัวที่เคยเป็นมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเต้านม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุ 35 ขึ้นไป ก็ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกและรักษาได้ทันเวลา

โดยที่โรงพยาบาลวิภาวดีมีบริการการตรวจตัดกรองและวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย พร้อมด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับการดูแลที่มีคุณภาพมากและเหมาะสมกับร่างกายของตัวเองมากที่สุด

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องมะเร็งรังไข่ที่หลายคนสงสัย ดังนี้

อาการของโรคมะเร็งรังไข่แบบไหนที่ควรพบแพทย์?

หากเกิดอาการปวดท้องหรือท้องอืดบ่อยๆ มีอาการท้องผูก ปัสสาวะบ่อย มีอาการเบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร น้ำหนักตัวลดหรือเพิ่มโดยไม่ทราบสาเหตุ และช่องท้องโตกว่าผิดปกติควรรีบพบแพทย์โดยทันที

โรคมะเร็งรังไข่มีกี่ประเภท?

โรคมะเร็งรังไข่มี 3 ประเภท ได้แก่ มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว (Epithelial Ovarian Cancer) เนื้องอกบริเวณเซลล์สืบพันธุ์ (Germ cell tumors) และเนื้องอกบริเวณเนื้อเยื่อสโตรมา (Stromal tumors)

โรคมะเร็งรังไข่ระยะไหนมีโอกาสรอด?

โอกาสรอดของโรคมะเร็งรังไข่อยู่ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เพราะมะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปอวัยวะอื่นมากนัก ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดและเคมีบำบัดจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดและหายจากมะเร็งได้

โรคมะเร็งรังไข่รักษาหายไหม?

หากตรวจพบมะเร็งรังไข่ในระยะแรกๆ สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออก หรือการใช้เคมีบำบัดและการรักษาอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดเซลล์มะเร็ง

อาการโรคมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้ายเป็นแบบไหน?

อาการของโรคมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย (ระยะที่ 4) จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียและไม่มีแรง เบื่ออาหารและไม่อยากกิน มีท้องบวมและปวดท้อง รวมทั้งอาจรู้สึกแน่นหน้าอกและหายใจลำบาก

“ภูมิใจที่ได้ดูแลคุณ”

สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าที่

02-561-1111

02-058-1111


ทีมแพทย์โรคมะเร็งรังไข่