โรคผิวหนัง

  • โรคผิวหนังคือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผิวหนังจากปัจจัยภายในหรือภายนอกร่างกาย ส่งผลให้โครงสร้างหรือการทำงานของผิวหนังเปลี่ยนแปลงไปจากภาวะปกติ
  • อาการของโรคผิวหนังจะมีผื่นแดง คัน แสบ ลอกเป็นขุย มีตุ่มหนอง หรือรอยดำเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค
  • โรคผิวหนังเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยคือภูมิแพ้ การติดเชื้อ สารระคายเคือง พันธุกรรม แสงแดด ความเครียด สภาพแวดล้อม หรือฮอร์โมน
  • วิธีรักษาโรคผิวหนังมีหลายวิธี ทั้งการใช้ยากิน ยาทา การฉายแสง เลเซอร์ หรือผลัดเซลล์ผิว โดยแพทย์จะเลือกวิธีตามอาการและสาเหตุ

คัน ผื่นขึ้น แสบ แดง ลอกเป็นขุย ถ้าใครเผชิญกับอาการเหล่านี้อยู่บ่อยๆ และไม่ทราบสาเหตุ อาจถึงเวลาที่ต้องสังเกตตัวเองให้มากขึ้น! เพราะอาการเหล่านี้อาจไม่ใช่แค่ผิวแพ้ธรรมดา แต่อาจเป็นสัญญาณของ “โรคผิวหนัง” ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและรักษาอย่างตรงจุด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามหรือเรื้อรังจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน

บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ สาเหตุ ระยะเวลาการรักษา และกลุ่มเสี่ยงของโรคผิวหนัง พร้อมข้อมูลการตรวจวินิจฉัย แนวทางการรักษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลวิภาวดี รวมถึงสิทธิการรักษา ขั้นตอนการนัดหมาย และค่าใช้จ่ายที่ควรทราบ

โรคผิวหนังคืออะไร

โรคผิวหนังคืออะไร

โรคผิวหนัง (Skin Diseases) คือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง ซึ่งอาจมีลักษณะหลากหลาย เช่น ผื่นแดง คัน แสบ แห้ง ลอก เป็นตุ่มหนอง หรือมีรอยโรคที่ผิวหนังแตกต่างกันไปในแต่ละคน อาการของโรคผิวหนังอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือเป็นเรื้อรังก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค สาเหตุ และการดูแลรักษา โดยสามารถแบ่งได้หลายชนิด ดังนี้

  • โรคผิวหนังจากการอักเสบเช่น โรคผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน โรคภูมิแพ้ผิวหนัง
  • โรคผิวหนังจากการติดเชื้อเช่น กลาก เกลื้อน โรคเชื้อรา โรคหิด โรคเริม งูสวัด
  • โรคผิวหนังจากสภาพแวดล้อมหรือสารเคมีเช่น ผื่นแพ้สัมผัส ผื่นจากสารระคายเคือง
  • โรคผิวหนังจากพันธุกรรมหรือระบบภูมิคุ้มกันเช่น ผิวหนังอักเสบจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ
  • โรคผิวหนังที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเช่น ไฝผิดปกติ และมะเร็งผิวหนัง
  • โรคผิวหนังจากแสงแดดเช่น ผิวไหม้แดด ฝ้า กระแดด โรคผิวหนังแพ้แสง
  • โรคเกี่ยวกับหนังศีรษะเช่น รังแค เชื้อราบนหนังศีรษะ รูขุมขนหนังศีรษะอักเสบ

โรคผิวหนังบางชนิดอาจไม่รุนแรง แต่หากปล่อยไว้นานโดยไม่รักษา อาจเกิดการลุกลามหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนั้น การตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลรักษาอย่างตรงจุด

สังเกตอาการของโรคผิวหนัง

อาการของโรคผิวหนังแสดงออกได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคและปัจจัยที่กระตุ้น โดยอาการที่มักพบบ่อย มีดังนี้

  • คันบริเวณผิวหนัง บางครั้งคันรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิต
  • มีผื่นแดงหรือผื่นนูนขึ้นตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ
  • ผิวแห้ง ลอกเป็นขุย หรือเป็นสะเก็ด
  • ผิวหนังบวม แสบ หรือมีอาการระคายเคือง
  • มีตุ่มน้ำใส หรือหนอง
  • ผิวหนังเปลี่ยนสี เช่น ด่างขาวหรือคล้ำลง
  • มีแผลตกสะเก็ดเรื้อรังที่ไม่หาย
  • มีอาการปวดหรือแสบผิวหนังร่วมด้วย
  • ผิวหนังมีรอยแตกลึกหรือรอยถลอก
  • มีการติดเชื้อหรือกลิ่นผิดปกติจากบริเวณผิวหนัง

สาเหตุโรคผิวหนังเกิดจากอะไร

สาเหตุโรคผิวหนังเกิดจากอะไร

โรคผิวหนังสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากภายในร่างกายและสิ่งแวดล้อมภายนอก ดังนี้

ปฏิกิริยาภูมิแพ้

ปฏิกิริยาภูมิแพ้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสารกระตุ้นบางชนิดมากเกินไป เช่น ฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ อาหารทะเล หรือเครื่องสำอาง แม้สารเหล่านั้นจะไม่เป็นอันตรายต่อคนทั่วไป อาการแพ้ที่เกิดขึ้นอาจแสดงออกทางผิวหนังในรูปแบบต่างๆ เช่น ผื่นแดง คัน ลมพิษ หรือผิวลอกเป็นขุย ในบางกรณีผู้ป่วยอาจมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นทันทีหลังสัมผัส หรืออาจใช้เวลาหลายชั่วโมงถึงหลายวันถึงจะแสดงอาการออกมา

การติดเชื้อ

การติดเชื้อเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักๆ ของโรคผิวหนัง โดยเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางบาดแผล รอยถลอก หรือการสัมผัสโดยตรง และทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ หรือเป็นตุ่ม ผื่น และแผลต่างๆ ได้ ซึ่งการติดเชื้อสามารถแบ่งได้ตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุหลัก ได้แก่

  • เชื้อแบคทีเรียเช่น ฝี หนอง ผิวหนังอักเสบเป็นวงแดง บวม เจ็บ มักเกิดจากเชื้อ Staphylococcus Aureus หรือ Streptococcus
  • เชื้อราเช่น กลาก เกลื้อน เชื้อราที่เล็บ หรือหนังศีรษะ ซึ่งชอบอาศัยบริเวณที่อับชื้น
  • เชื้อไวรัสเช่น เริม (Herpes) งูสวัด (Shingles) หูด (Warts) ซึ่งสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรงหรือสารคัดหลั่ง
  • เชื้อปรสิตเช่น หิด เหา ซึ่งทำให้เกิดอาการคันรุนแรง โดยเฉพาะเวลากลางคืน

การสัมผัสสารระคายเคือง

โรคผิวหนังเกิดจากผิวหนังสัมผัสกับสารเคมีหรือวัสดุที่มีฤทธิ์ระคายเคือง เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก สารเคมีในเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ซึ่งอาจทำลายชั้นปกป้องผิว ส่งผลให้ผิวเกิดการอักเสบ ระคายเคือง คัน แดง แสบ หรือแห้งลอกได้

ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน

ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ สะเก็ดเงิน หรือโรคลูปัส เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติจนไปกระตุ้นหรือทำร้ายเซลล์ผิวหนังของตัวเอง ส่งผลให้เกิดการอักเสบ ผื่นแดง คันแห้ง หรือผิวหนังลอกเรื้อรัง โดยไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อหรือสารระคายเคียงภายนอก

กรรมพันธุ์หรือพันธุกรรม

กรรมพันธุ์หรือพันธุกรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อการเกิดโรคผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเคยเป็นโรคผิวหนังบางชนิด การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมอาจเพิ่มโอกาสให้คนในครอบครัวเดียวกันมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป แม้จะไม่ได้สัมผัสสิ่งกระตุ้นโดยตรงก็ตาม

ฮอร์โมนและความเครียด

ฮอร์โมนและความเครียดอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดหรือกำเริบของโรคผิวหนังบางชนิด เช่น สิว ผื่นผิวหนังอักเสบ หรือสะเก็ดเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่ฮอร์โมนมีความเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงวัยรุ่น การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ หรือช่วงวัยทอง นอกจากนี้ ความเครียดเรื้อรังยังส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้ผิวหนังอ่อนแอลง อักเสบง่ายขึ้น หรือฟื้นตัวช้ากว่าปกติอีกด้วย

แสงแดดและรังสี UV

การได้รับแสงแดดอย่างต่อเนื่องหรือมากเกินไปโดยไม่ป้องกัน อาจทำให้เกิดอาการผิวไหม้ ฝ้า กระ จุดด่างดำ หรือกระตุ้นให้โรคผิวหนังบางชนิดกำเริบ เช่น โรคแพ้แสง และสะเก็ดเงิน รวมถึงทำให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติจนเกิดริ้วรอยแห่งวัยได้

สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม

อากาศร้อนจัด หนาวจัด หรือแห้งเกินไป สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคผิวหนัง เช่น ผิวแห้งแตก ผื่นคัน หรือผิวลอกเป็นขุย โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่มีความชื้นในอากาศต่ำ หรือในฤดูร้อนที่เหงื่อออกมากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อราได้

การแบ่งระยะของโรคผิวหนัง

โรคผิวหนังสามารถแบ่งได้หลายระยะตามความรุนแรงและลักษณะของโรค ซึ่งแต่ละระยะมีความแตกต่างทั้งในด้านอาการที่แสดงออกและแนวทางในการรักษา ดังนี้

  • ระยะเฉียบพลัน (Acute Stage)เป็นระยะแรกเริ่มของโรค มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีอาการผื่นแดง คัน แสบ มีตุ่มน้ำ หรือผิวหนังบวม อาจมีน้ำเหลืองซึมร่วมด้วย โดยในระยะนี้การรักษาจะมุ่งไปที่การลดอาการอักเสบ บรรเทาอาการคัน และป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจใช้ยาทา ยากิน หรือประคบเย็นตามความเหมาะสม
  • ระยะกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Stage)เป็นระยะที่อาการอักเสบลดลงจากระยะแรก แต่ยังมีผื่น คัน และอาการระคายเคืองเหลืออยู่ ผิวเริ่มแห้งหรือมีสะเก็ดบางส่วน การรักษาระยะนี้จะเน้นให้ความชุ่มชื้นกับผิวร่วมกับการใช้ยาลดการอักเสบชนิดอ่อนลง รวมถึงปรับพฤติกรรมเพื่อลดการกระตุ้นอาการ
  • ระยะเรื้อรัง (Chronic Stage)เป็นระยะที่โรคดำเนินมานาน อาการอาจเป็นๆ หายๆ โดยผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคจะหนาและหยาบกว่าปกติ หรืออาจลอก แตก และมีรอยดำ รอยคล้ำร่วมด้วย การรักษาในระยะนี้จะมุ่งควบคุมอาการ ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และดูแลผิวระยะยาว เช่น การใช้ยาทาลดการหนาตัวของผิว ยากดภูมิคุ้มกัน และดูแลสุขภาพผิวต่อเนื่อง

การทราบระยะของโรคมีผลต่อการเลือกวิธีรักษาเป็นอย่างมาก หากรักษาถูกจุดตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม อาจช่วยให้โรคหายเร็วขึ้นและลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ในทางกลับกัน หากปล่อยให้ลุกลามจนถึงระยะเรื้อรัง อาจต้องใช้เวลารักษานานขึ้นและมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็น หรือผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้

กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคผิวหนัง มีกลุ่มไหนบ้าง?

โรคผิวหนังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบมากเป็นพิเศษในบางกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงทางร่างกาย พฤติกรรม หรือสิ่งแวดล้อม ดังนี้

  • เด็กทารกและเด็กเล็กเนื่องจากมีผิวบอบบาง จึงเสี่ยงต่อผื่นแพ้ ผดร้อน หรือภูมิแพ้ผิวหนัง
  • ผู้สูงอายุเนื่องจากผิวหนังแห้งง่ายและภูมิคุ้มกันลดลง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • ผู้ที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวเช่น หอบหืด แพ้อากาศ หรือโรคผิวหนังอักเสบ
  • ผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมเสี่ยงเช่น พนักงานทำความสะอาด ช่างทำผม คนงานอุตสาหกรรม ผู้ที่สัมผัสสารเคมีหรือสิ่งสกปรกเป็นประจำ
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องเช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เอชไอวี หรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ที่อยู่ในพื้นที่อากาศร้อนชื้นหรือแห้งจัดอาจทำให้เกิดผื่นจากเหงื่อและเชื้อราได้ง่าย
  • ผู้ที่มีความเครียด พักผ่อนน้อย หรือมีภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงเช่น วัยรุ่น สตรีตั้งครรภ์ ผู้ที่นอนน้อยหรือทำงานหนัก

การตรวจวินิจฉัยโรคผิวหนัง

การตรวจวินิจฉัยโรคผิวหนังเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์สามารถกำหนดแนวทางการรักษาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาการของโรคผิวหนังแต่ละชนิดอาจมีความคล้ายคลึงกัน การวินิจฉัยจึงต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ และโดยทั่วไปจะประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

  1. การซักประวัติและตรวจร่างกายแพทย์จะสอบถามประวัติการเกิดอาการ ลักษณะของผื่น ระยะเวลาที่เป็น รวมถึงประวัติครอบครัว อาชีพ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมกับการตรวจดูผื่นหรือรอยโรคบนผิวหนังโดยตรง
  2. การขูดผิวหนังตรวจหาเชื้อ (Skin Scraping)ใช้ในกรณีที่สงสัยโรคติดเชื้อ เช่น กลาก เกลื้อน เชื้อรา โดยจะขูดผิวหนังบริเวณที่มีผื่นหรือตุ่มส่งตรวจทางกล้องจุลทรรศน์
  3. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Patch Test หรือ Skin Prick Test)เหมาะสำหรับผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคผิวหนังจากภูมิแพ้หรือแพ้สัมผัส โดยนำสารก่อภูมิแพ้มาแตะหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพื่อดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น
  4. การตรวจชิ้นเนื้อผิวหนัง (Skin Biopsy)ใช้ในกรณีที่อาการซับซ้อนหรือไม่สามารถวินิจฉัยได้จากภายนอก โดยแพทย์จะตัดเนื้อเยื่อผิวหนังขนาดเล็กส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อวิเคราะห์อย่างละเอียด
  5. การเพาะเชื้อ (Culture Test)หากสงสัยการติดเชื้อจากแบคทีเรีย รา หรือไวรัส แพทย์อาจเก็บตัวอย่างหนอง น้ำเหลือง หรือสะเก็ดผื่น เพาะเชื้อเพื่อหาสาเหตุ
  6. การตรวจเลือดใช้ในกรณีที่สงสัยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ลูปัส หรือโรคทางพันธุกรรมบางชนิด

วิธีการรักษาโรคผิวหนัง

วิธีการรักษาโรคผิวหนัง

การรักษาโรคผิวหนังขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ระยะของอาการ และปัจจัยร่วมของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น อายุ พฤติกรรม หรือโรคประจำตัว โดยแนวทางการรักษาหลักของโรคผิวหนัง ได้แก่

  • การใช้ยาทาภายนอกเช่น ยาลดการอักเสบ (สเตียรอยด์) ยาฆ่าเชื้อรา ยาฆ่าแบคทีเรีย หรือยาลดอาการคัน ซึ่งจะใช้เฉพาะบริเวณที่มีอาการ
  • การรับประทานยาใช้ในกรณีที่อาการรุนแรงหรือเป็นบริเวณกว้าง เช่น ยาแก้แพ้ ยาปฏิชีวนะ ยากดภูมิคุ้มกัน หรือยาต้านไวรัส
  • การฉายแสงหรือเลเซอร์เช่น การฉายแสง UV สำหรับผู้ป่วยสะเก็ดเงิน หรือการใช้เลเซอร์รักษารอยดำ ฝ้า กระ
  • การรักษาด้วยวิธีผสมผสานผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกันตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อควบคุมอาการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

วิธีป้องกันไม่ให้เสี่ยงเป็นโรคผิวหนัง

วิธีป้องกันไม่ให้เสี่ยงเป็นโรคผิวหนัง

เพื่อไม่ให้ตัวเองเสี่ยงเป็นโรคผิวหนัง สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวัน ดังต่อไปนี้

  • ดูแลผิวให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอหลีกเลี่ยงการหมักหมมของเหงื่อ สิ่งสกปรก หรือเชื้อโรค โดยเฉพาะในบริเวณข้อพับ รักแร้ หรือหลังออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้เช่น สารเคมีในผงซักฟอก น้ำหอม โลหะ หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะกับสภาพผิว
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่อ่อนโยนโดยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีน้ำหอม แอลกอฮอล์ หรือสารกันเสียที่อาจทำให้ระคายเคืองผิวได้ง่าย
  • เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวแห้งหรืออยู่ในสภาพอากาศแห้งเย็น ควรทาโลชั่นหรือครีมบำรุงหลังอาบน้ำทันที
  • ป้องกันแสงแดดและรังสี UVโดยการใช้ครีมกันแดด สวมเสื้อแขนยาว หรือหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน
  • ลดความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอเพราะความเครียดและการนอนหลับไม่เพียงพอสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคผิวหนังบางชนิดได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นเช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า หรือหวี เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อราและปรสิต
  • ตรวจสุขภาพผิวกับแพทย์เป็นระยะหากมีประวัติผื่นคันเรื้อรังหรือแพ้ง่ายเพื่อเฝ้าระวังอาการและรับคำแนะนำที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล

การรักษาโรคผิวหนัง ที่โรงพยาบาลวิภาวดี

การรักษาโรคผิวหนัง ที่โรงพยาบาลวิภาวดี

โรงพยาบาลวิภาวดีมีบริการรักษาโรคผิวหนังแบบครบวงจร (One Stop Service) ครอบคลุมตั้งแต่การวินิจฉัย รักษา ติดตามผล ไปจนถึงให้คำแนะนำด้านการดูแลผิวในระยะยาว โดยทีมแพทย์เฉพาะผู้มีประสบการณ์ด้านผิวหนังโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและตรงจุดแบบครบจบในที่เดียว

การตรวจวินิจฉัย

ที่โรงพยาบาลวิภาวดีมีการตรวจวินิจฉัยโรคผิวหนังอย่างละเอียดและรอบคอบ โดยแพทย์จะประเมินอาการจากลักษณะของผื่นหรือความผิดปกติที่ปรากฏบนผิวหนังร่วมกับการซักประวัติสุขภาพ และหากแพทย์มีข้อสงสัย อาจพิจารณาใช้การตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น

  • การขูดผิวหนังเพื่อตรวจหาเชื้อ
  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
  • การตรวจชิ้นเนื้อผิวหนัง
  • การเพาะเชื้อและตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การรักษา

โรงพยาบาลวิภาวดีมีแนวทางการรักษาโรคผิวหนังที่หลากหลาย โดยเน้นการรักษาที่ปลอดภัย เห็นผลจริง และเหมาะสมกับสภาพผิวของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งมีแนวทางการรักษาที่ให้บริการ ดังนี้

  • การใช้ยาเฉพาะทางเช่น ยาทาภายนอก ยารับประทาน ยาปฏิชีวนะ ยากดภูมิคุ้มกัน หรือยาต้านไวรัส ขึ้นอยู่กับประเภทของโรค
  • การรักษาด้วยแสง UVB (Excimer 308)เหมาะสำหรับโรคผิวหนังเรื้อรัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคด่างขาว และผื่นอักเสบเรื้อรัง โดยใช้แสงอาทิตย์เทียมกระตุ้นการฟื้นฟูเซลล์ผิวในระดับลึก ซึ่งอาจเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนหลังรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • การรักษาด้วยเลเซอร์เช่น เลเซอร์ลดรอยแดง รอยดำ ฝ้า กระ เส้นเลือดขอด รอยแผลเป็น หรือการฟื้นฟูผิว โดยใช้เครื่องมือที่มีมาตรฐานและเทคโนโลยีระดับสากล
  • การดูแลผิวแบบองค์รวมทีมแพทย์จะมีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผิว การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม และการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มแพ้ง่ายหรือผิวไวต่อสิ่งกระตุ้น

ทีมแพทย์

ทีมแพทย์ผิวหนังของโรงพยาบาลวิภาวดีประกอบด้วยแพทย์ผู้มีประสบการณ์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง ทั้งด้านการดูแลรักษาโรคผิวหนังทั่วไป ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านผิวพรรณและความงามแบบองค์รวม

แพทย์ทุกท่านผ่านการฝึกอบรมในระดับสากล พร้อมใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่แม่นยำ เช่น การฉายแสง Excimer เลเซอร์ผิวหนัง หรือการผลัดเซลล์ผิว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ตรงจุด เห็นผลลัพธ์อย่างปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว

ข้อมูลการนัดหมาย

หากต้องการเข้ารับการตรวจหรือรักษาโรคผิวหนังที่โรงพยาบาลวิภาวดี ผู้ป่วยสามารถนัดหมายล่วงหน้าได้อย่างสะดวกผ่านหลายช่องทาง ดังนี้

  • โทรติดต่อ0-2561-1111 ตลอด 24 ชั่วโมง
  • Line Official Account@Vibhavadihospital
  • เว็บไซต์โรงพยาบาลวิภาวดีwww.vibhavadi.comและเลือกเมนู “นัดหมายแพทย์” กรอกข้อมูลเบื้องต้น จากนั้นเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับเพื่อยืนยันวันและเวลานัดหมายอีกครั้ง
  • Walk-in (เข้ารับบริการโดยไม่ได้นัดล่วงหน้า)สำหรับกรณีฉุกเฉินหรือหากไม่สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ สามารถเข้ามาติดต่อแผนกโรคผิวหนังที่โรงพยาบาลวิภาวดีได้โดยตรง ทั้งนี้ แนะนำให้โทรแจ้งล่วงหน้าเพื่อความสะดวกและลดเวลารอคอย

สิทธิการรักษาและค่าใช้จ่าย

โรงพยาบาลวิภาวดีมีทางเลือกด้านสิทธิการรักษาและระบบชำระเงินที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ป่วยโรคผิวหนังสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวก โดยสิทธิที่สามารถใช้ได้และค่าใช้จ่ายเบื้องต้น มีดังนี้

สิทธิการรักษาที่รองรับ

  1. ชำระเงินสด (Self-Pay)ผู้ป่วยสามารถเลือกชำระค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวเอง โดยสามารถสอบถามค่าบริการเบื้องต้นล่วงหน้าได้จากเจ้าหน้าที่
  2. สิทธิประกันสุขภาพเอกชนผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิคุ้มครองค่ารักษาโรคผิวหนังได้ตามแผนประกันสุขภาพของเอกชนที่ถืออยู่ได้ตามเงื่อนไขของบริษัทประกัน
  3. สิทธิสวัสดิการข้าราชการ (กรมบัญชีกลาง)สำหรับข้าราชการและครอบครัว สามารถใช้สิทธิรักษาโรคผิวหนังได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด
  4. สิทธิประกันสังคม (เฉพาะผู้ที่เลือกโรงพยาบาลวิภาวดีเป็นสถานพยาบาลหลัก)กรณีผู้ป่วยใช้สิทธิประกันสังคมและได้เลือกโรงพยาบาลวิภาวดีเป็นโรงพยาบาลประจำ สามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ

ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น

  • ค่าปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ประมาณ 500 - 1,200 บาท
  • ค่ายาและค่าตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม (ขึ้นอยู่กับแผนการรักษา)

สรุป

โรคผิวหนังเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การแพ้สารเคมี การติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือสภาพแวดล้อม มักจะมีอาการคัน ผิวแห้ง ผื่นแดง แสบ ผิวลอก หรือมีตุ่มหนอง โดยการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการใช้ยา การฉายแสง การผลัดเซลล์ผิว หรือการใช้เลเซอร์ ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคและระดับความรุนแรงของอาการ

โรงพยาบาลวิภาวดีมีบริการรักษาโรคผิวหนังโดยทีมแพทย์ผิวหนังผู้มีประสบการณ์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัย ให้การรักษาตรงจุด และมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยทุกราย!

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

สำหรับใครที่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ แนวทางการรักษา และความรุนแรงของโรคผิวหนังอยู่ เราได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อย พร้อมคำตอบที่ชัดเจนไว้ให้คุณได้เข้าใจมากขึ้น ดังนี้

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคผิวหนังผิวหนังอักเสบมีอะไรบ้าง?

ยาที่ใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุและระดับความรุนแรงของอาการ โดยทั่วไปแพทย์อาจพิจารณาใช้ยา ดังนี้

  • ยาทาภายนอกเช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อลดอาการอักเสบ และอาจใช้ยาต้านเชื้อราหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกรณีมีการติดเชื้อร่วม

  • ยารับประทานเช่น ยาแก้แพ้ (Antihistamine) เพื่อลดอาการคัน หรือยากดภูมิคุ้มกันในกรณีที่มีสาเหตุจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ

  • ยาทาบำรุงผิวเช่น ครีมให้ความชุ่มชื้น เพื่อช่วยฟื้นฟูเกราะป้องกันผิวหนัง

อาการโรคผิวหนังแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์?

หากมีอาการผิวหนังผิดปกติที่ไม่หายภายใน 1 - 2 สัปดาห์ หรือมีลักษณะอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ผิวหนังในทันที

  • ผื่นแดง คัน แสบ หรือลอกที่เป็นเรื้อรังหรือกำเริบบ่อย

  • มีตุ่มน้ำ หนอง แผลเปื่อย หรือมีของเหลวไหลซึม

  • รู้สึกเจ็บแสบ บวม หรือมีไข้ร่วมกับผื่น

  • รอยโรคกระจายเป็นวงกว้างหรือกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

  • มีรอยดำ รอยแดง หรือแผลที่ไม่หายสักที

โรคผิวหนังอันตรายมากไหม มีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?

โดยทั่วไปโรคผิวหนังไม่ถือว่าเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น

  • การติดเชื้อแทรกซ้อนโดยเฉพาะในกรณีที่มีตุ่มน้ำ แผล หรือการเกา

  • อาการเรื้อรังผิวหนังอาจหนาตัว ดำคล้ำ หรือเกิดรอยแผลเป็นถาวร

  • กระทบต่อคุณภาพชีวิตเช่น ความไม่มั่นใจ การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือปัญหาด้านจิตใจ

  • แพร่กระจายโรคบางชนิดอาจติดต่อได้ เช่น หิด เชื้อรา เริม

ในบางกรณี โรคผิวหนังอาจเป็นสัญญาณของโรคระบบอื่น เช่น โรคภูมิคุ้มกันหรือโรคในระบบภายใน จึงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจากแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านผิวหนัง

“ภูมิใจที่ได้ดูแลคุณ”

สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าที่

02-561-1111

02-058-1111