ปวดศีรษะ

ปวดศีรษะ         อากาศร้อนๆ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้หลายๆท่าน เกิดอาการปวดศีรษะ ซึ่งอาจเป็นการปวดศีรษะธรรมดา หรือ จากอากาศร้อนที่ทุกคนได้ยินกันว่าเป็น Heat Stroke ปวดศีรษะจากอากาศร้อนเชื่อว่าเกี่ยวกันทั้งระบบหลอดเลือด และเส้นประสาทในศีรษะ ทำให้มีอาการปวดจากหลอดเลือดขยายตัว           สำหรับโรคปวดศีรษะที่เป็นโรคของมันเองจริงๆ นั้น มีหลายโรค แต่ที่ยอดฮิต ในกลุ่มผู้ปวดบ่อยๆ ได้แก่ ไมเกรน ซึ่งมักชอบสงสัยกันมาก ว่าจะเป็นหรือไม่  ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป            สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องให้ผู้อ่านเข้าใจคือ การวินิจฉัยสาเหตุของการปวดศีรษะนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องอาศัยการซักอาการโดยละเอียด (ไม่ต่ำกว่า 10 ข้อ) นอกจากในบางรายที่ค่อนข้างชัดเจนมากๆ อาจใช้คำถาม 3-4 ข้อก็พอบอกได้ ดังนั้นการเล่าอาการของคนไข้ทางจดหมาย หรือทางอินเตอร์เน็ตนั้น บ่อยครั้งที่ผู้ถามจะได้คำตอบที่ชวนให้หงุดหงิดว่า ' ควรพบแพทย์' หรือ ' บอกไม่ได้ ข้อมูลไม่พอ' ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ            การตอบโดยอาศัยผ่านสื่อนี้ สิ่งที่น่าจะมีประโยชน์ที่สุดคือ บอกให้ผู้ถามพอเป็นแนวทางว่า อาจเป็นอะไรได้บ้าง จำเป็นต้องพบแพทย์หรือไม่ แต่สำหรับการวินิจฉัยนั้น คงหวังผล 100% คงไม่ได้ก่อนจะเข้าเรื่อง สิ่งสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับปวดศีรษะคือ ปวดแบบใดบ้างที่ต้องให้ความสำคัญ และต้องรีบไปพบแพทย์ ซึ่งได้แก่ลักษณะต่อไปนี้  - ปวดกระทันหัน ทันทีทันใด - ปวดรุนแรงมาก - ปวดในลักษณะที่ไม่เหมือนที่เคยปวดมาก่อน (ปวดแบบใหม่) - อาการค่อยๆ เป็นมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อาจเป็นวัน เป็นเดือน จนถึงเป็นปีก็ได้ - มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้สูง ชัก เห็นภาพซ้อน อาเจียนรุนแรง แขนขาอ่อนแรงเป็นซีก    เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ขอแบ่งชนิดการปวดศีรษะเป็น 3 กลุ่มกว้างๆ ได้แก่ ปวดจากกล้ามเนื้อตึงตัว  ปวดจากการขยายตัวของหลอดเลือด และ  ปวดจากมีสิ่งผิดปกติในสมอง  สำหรับการปวดจากเส้นประสาทที่ศีรษะและใบหน้า ขอไม่กล่าวถึงในที่นี้  ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว           เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในชีวิตประจำวัน เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น อดนอน เครียด ใช้สมองหรือสายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ   ฯลฯ การปวดมีลักษณะตึงๆ ตื้อๆ บางคนอาจปวดจี๊ดๆ ร่วมด้วย ร้าวจากขมับไปกลางศีรษะ จนถึงท้ายทอย (ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้)           อาการปวดมักจะเริ่มตอนสายๆ หรือบ่าย (คือเมื่อเริ่มเคร่งเครียดกับงาน)  แล้วมักจะปวดต่อไปทั้งวัน อาจไม่รุนแรงแต่พอรำคาญ (ถ้าเป็นมากๆ ก็รุนแรง ได้เหมือนกัน)            ลักษณะสำคัญ คือ เวลาหายก็มักหายไม่สนิทเป็นปลิดทิ้ง คือจะยังตื้อๆอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งต่างจากไมเกรนที่ปวดรุนแรง แต่เวลาไม่ปวดก็จะปกติ100% (เป็นปลิดทิ้ง)   การป้องกัน  ทำได้โดย  1.เลี่ยงสาเหตุทั้งหลายที่กล่าวไว้ข้างต้น ช่วงที่ปวดสามารถทานยาแก้ปวดทั่วๆไป (เช่น พาราเซตามอล)  2. ถ้ายังไม่ค่อยดี อาจต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วย เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาคลายเครียด 3. ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา   ปวดจากการขยายตัวของหลอดเลือดที่ศีรษะ           มีหลายแบบ แต่ที่พูดถึงบ่อยๆ คือ ไมเกรน ซึ่งยังไม่ทราบกลไกการเกิดโรคอย่างแท้จริง แต่เชื่อว่าเกี่ยวกันทั้งระบบหลอดเลือด และเส้นประสาทในศีรษะ สำหรับต้นเหตุอื่นที่ทำให้ปวดจากหลอดเลือดขยายตัว นอกจากโรคไมเกรนได้แก่ ไข้สูง ยาบางชนิด อากาศร้อน เป็นต้น           ลักษณะสำคัญ คือ ปวดตุ้บๆ ที่บริเวณขมับ ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ บางคนอาจเริ่มจากตื้อๆ จี๊ดๆ ก่อน แล้วค่อยๆ รุนแรงขึ้นจนตุ้บๆ ในที่สุด เวลาปวดจะรุนแรงมาก มักคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย แต่ช่วงที่ไม่ปวดจะหายเป็นปลิดทิ้ง บางคน (10-20%) อาจมีอาการเตือนก่อนปวด โดยจะตาพร่า เห็นแสงแว้บๆ สีเหลืองหรือเป็นเส้นหยักๆ ลอยไปมา แล้วต่อมาค่อยปวดศีรษะ   สิ่งที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ            มีหลายอย่าง เช่น อากาศร้อน ยาบางชนิด (เช่น ยาลดความดันบางชนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด) แอลกอฮอล์ อาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแล็ต เนย เบคอน ไส้กรอก แฮม ผงชูรส เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีสารบางอย่างที่กระตุ้นอาการได้            เมื่อเริ่มมีอาการ สิ่งที่ต้องปฏิบัติ คือ พยายามอยู่ในที่เงียบๆ สงบๆ ถ้าหลับได้เลยยิ่งดี ยาที่ทานแก้ปวด มีตั้งแต่พาราเซตามอลธรรมดา จนถึงยาที่ใช้เฉพาะโรค (ซึ่งหลายตัวจะมีผลข้างเคียง จึงควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา) ซึ่งแล้วแต่ แต่ละรายว่าจำเป็นแค่ไหน ในรายที่เป็นบ่อยๆ อาจต้องใช้ยา ในกลุ่มที่ป้องกันไมเกรน ซึ่งต้องให้แพทย์สั่งให้ เนื่องจากยาแต่ละตัวมีความเหมาะสม ต่อคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน            ไมเกรน มักเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่น หรืออาจเริ่มช่วงอายุ15-30 ปี พบในหญิงมากกว่าชาย โดยบางคนมีอาการมากช่วงก่อน ระหว่าง หรือหลังมีประจำเดือน ต่อมาเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลังวัยหมดประจำเดือน อาการมักห่างลงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้ เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดอาการปวดแบบไมเกรน             คนที่คิดว่าตัวเองเป็นไมเกรน มักนิยมซื้อยา cafergot มาทานเอง ซึ่งต้องระวัง ให้มากๆ โดยเฉพาะในคนอายุ40ปีขึ้นไป เนื่องจากยาอาจมีโอกาส ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบได้ และที่สำคัญคือ ไม่แน่ว่า จะเป็นไมเกรนจริงหรือไม่ โดยเฉพาะรายที่เพิ่งจะเริ่มเป็นตอนอายุมากๆ เนื่องจากโอกาสเป็นไมเกรน มีน้อย(ถ้าไม่เคยเป็นมาก่อน)           ข้อแนะนำ  คือ ถ้าเป็นไม่มากนัก และยังไม่อยากพบแพทย์ ช่วงที่ปวด อาจลองทานพาราเซตามอลดูก่อน ถ้าหาย อาจเป็นปวดหัวธรรมดา หรืออาจเป็นไมเกรนแบบไม่รุนแรงก็ได้ถ้าไม่ดีขึ้น หรือเป็นบ่อยๆ ก็ควรพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ชัดเจนและการรักษาที่เหมาะสม  ปวดศีรษะจากสิ่งผิดปกติในสมอง           ได้แก่ เนื้องอก ฝี พยาธิ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เส้นเลือดสมองแตก ฯลฯ มีลักษณะการปวดที่หลากหลาย ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของโรค ขนาดของรอยโรค ตำแหน่ง (ในสมอง) ที่เกิดโรค           อาการโดยรวมๆ คือ  มักปวดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผ่านไปเป็นวัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน (ขึ้นกับโรค) ช่วงที่เป็นมักมีอาการอาเจียนมาก หรืออาจมีอาการอื่นๆ ทางสมองร่วมด้วยเช่น ชัก เห็นภาพซ้อน สับสน  อ่อนแรงครึ่งซีก ซึมลง จนถึงเสียชีวิตได้   บทความโดย   นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี   อายุรแพทย์ประสาท ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยคลินิค ดอท คอม                                  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคไต ไตเสื่อมทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ อย่างไร รวมถึงการป้องกันและการรักษา

โรคไต ไตเสื่อมทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ อย่างไร รวมถึงการป้องกันและการรักษา โรคไต การป้องกันและการรักษา ไต ไตมี 2 ข้าง อยู่บริเวณด้านหลัง ใต้ชายโครง บริเวณบั้นเอว มีรูปร่างคล้ายถั่วเหลือง ยาวประมาณ 12เซนติเมตร ไต ประกอบด้วยหลอดเลือดฝอยมากมาย เรียกว่า “หน่วยไต” (nephron) หน่วยไตจะลดจำนวน และเสื่อมสภาพตามอายุไข ไตทำหน้าที่อะไร ? กำจัดของเสีย ดูดซึม และเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รักษาสมดุลน้ำของร่างกาย รักษาสมดุลเกลือแร่ของร่างกาย รักษาสมดุลกรดด่างของร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต สร้างฮอร์โมน 1.กำจัดของเสีย ได้แก่ ยูเรีย ครีเอดินิน เมื่อร่างกายได้รับสารอาหาร จะย่อยสลาย นำส่วนที่เป็นประโยชน์ไปใช้ และปล่อยของเสียออกสู่กระแสเลือด ผ่านมายังไต และถูกขับออกมากับปัสสาวะ ขับยา และสารแปลกปลอมอื่น ๆ 2.ดูดซึม และเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายไว้ สารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จะถูกดูดกลับโดยเซลล์ของหน่วยไตเช่น น้ำ ฟอสเฟด โปรตีน 3.รักษาสมดุลน้ำของร่างกาย ถ้าน้ำมีมากเกินความต้องการของร่างกาย ไตจะทำหน้าที่ขับน้ำออกมาทางปัสสาวะ ถ้าอยู่ในภาวะขาดน้ำ ไตจะพยายามสงวนน้ำไว้ให้ร่างกาย ปัสสาวะจะมีปริมาณน้อยและเข้มข้น 4.รักษาสมดุลเกลือแร่ของร่างกาย ไตที่ปกติจะขับเกลือส่วนเกินได้เสมอ แม้จะรับประทานรสเค็มจัด แต่ถ้าเสื่อมสมรรถภาพ ผู้ป่วยจะมีอาการบวมถ้ารับประทานเกลือมากเกินไป 5.รักษาสมดุลกรดด่างของร่างกาย ร่างกายจะผลิตกรดทุกวัน จากการเผาผลาญอาหารโปรตีน ถ้าไตทำหน้าที่ปกติ จะไม่มีกรดคั่ง ถ้าไตเสื่อมสมรรถภาพ ร่างกายจะมีปัสสาวะเป็นกรด 6.ควบคุมความดันโลหิต ความดันโลหิตสูง เกิดจากความผิดปกติในการควบคุมสมดุลน้ำ และเกลือ รวมถึงสารบางชนิด ผู้ป่วยโรคไต จึงมักมีความดันโลหิตสูง เพราะไตถูกกระตุ้นให้สร้างสารที่ทำให้ความดันสูง ถ้าความดันโลหิตสูงมาก ทำให้หัวใจทำงานหนัก หรืออาจเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือ แตก เป็นอัมพฤกษ์ และอัมพาตได้ 7.สร้างฮอร์โมน ไต ปกติสามารถสร้างฮอร์โมนได้หลายชนิด ถ้าเป็นโรคไต การสร้างฮอร์โมนจะบกพร่องไป ตัวอย่างฮอร์โมนที่สร้างจากไต ฮอร์โมนเออริโธรพอยอิติน ( erythropoietin) ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้นผู้ป่วยจะมี อาการซีด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หัวใจทำงานหนัก วิงเวียน หน้ามืด เหนื่อย ใจสั่น เป็นลมบ่อย วิตามินดีชนิด calcitriol ทำหน้าที่ช่วยควบคุมการดูดซึมแคลเซี่ยม ซึ่งการที่วิตามีนดี และแคลเซี่ยมในเลือดต่ำ ทำให้ต่อมพาราธัยรอยด์หลั่งฮอร์โมนมากกว่าปกติ เป็นผลเสียต่ออวัยวะหลายอย่างในร่างกาย โดยเฉพาะกระดูก ทำให้ไม่แข็งแรง ไตเสื่อมทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ ใครมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค ไต อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ไต จะเริ่มเสื่อม ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคเก๊าท์ โรคไตอักเสบชนิดต่าง ๆ เช่น โรคไตอักเสบตั้งแต่วัยเด็ก ไตอักเสบ เอส-แอล –อี โรคไตเป็นถุงน้ำ นิ่ว เนื้องอก หลอดเลือดฝอยอักเสบ มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไต โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อ ใช้ยาแก้ปวด หรือสัมผัสสารเคมีบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคไต อาการแสดง การสืบค้น อาการแสดงเมื่อเป็นโรคไต หนังตา ใบหน้า เท้า ขา และลำตัวบวม ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ขุ่น เป็นฟอง เป็นเลือด สีชาแก่ / น้ำล้างเนื้อ การถ่ายปัสสาวะผิดปกติเช่น บ่อย แสบ ขัด ปริมาณน้อย ปวดหลัง คลำได้ก้อน บริเวณไต ความดันโลหิตสูง ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง ไม่กระฉับกระเฉง ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร การรับรสอาหารเปลี่ยนไป ปวดศีรษะ นอนหลับไม่สนิท อาการสังเกตเมื่อไตเสื่อม ไตเริ่มเสื่อม อาการบวม ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง ซีดมากขึ้น เบื่ออาหาร คันตามตัว อาการสังเกตเมื่อไตเสื่อม อาการบวมที่หน้า และหนังตา อาการบวมที่ขา อาการบวมที่เท้า ปัสสาวะเป็นเลือด โรคไตวาย ไตวายเฉียบพลัน ไตเสื่อมอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเป็นวัน หรือสับดาห์ มักมีอาการมากกว่าแบบเรื้อรัง อัตราการเสียชีวิตสูง ถ้าพ้นอันตราย ไตมักจะเป็นปกติได้ โรคไตวายเรื้อรัง เนื้อไตถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้ไตค่อย ๆ ฝ่อเล็กลง แม้อาการจะสงบ แต่ไตจะค่อย ๆ เสื่อม และเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรัง ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยด้วยโรคไต เข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีสาเหตุจาก อันดับหนึ่ง โรคเบาหวาน อันดับสอง ความดันโลหิตสูง และ โรคหลอดเลือดฝอยไตอักเสบ เช่น โรค เอส- แอล – อี สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ โรคนิ่วในไต โรคไตอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อ โรคเก๊าท์ โรคไตจากการกินยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ โรคถุงน้ำในไตที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ มักทำให้เกิดโรคกับไตทั้ง 2 ข้างพร้อม ๆ กัน     ข้อเขียนโดย ศจ.พญ.ลีนา องอาจยุทธ สาขาวิชาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นายกสมาคมโรคไต แห่งประเทศไทย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคไตวาย

โรคไตวาย         ไตวายมีกี่แบบ แต่ละแบบเกิดขึ้นได้อย่างไร อ่านได้ที่นี่ค่ะ โรคไตวาย มี 2 แบบคือ ไตวายเฉียบพลัน                ไตเสื่อมอย่างรวดเร็ว   ภายในเวลาเป็นวันหรือสับดาห์     มักมีอาการมากกว่าแบบเรื้อรัง    อัตราการเสียชีวิตสูง   ถ้าพ้นอันตราย ไตมักจะเป็นปกติได้ โรคไตวายเรื้อรัง             เนื้อไตถูกทำลายอย่างถาวร   ทำให้ไตค่อย ๆ ฝ่อเล็กลง     แม้อาการจะสงบ  แต่ไตจะค่อย ๆ เสื่อม     และเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรัง                  ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยด้วยโรคไต เข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย  มีสาเหตุจาก                  1.   อันดับหนึ่ง   โรคเบาหวาน                  2.   อันดับสอง   ความดันโลหิตสูง  และ โรคหลอดเลือดฝอยไตอักเสบ  เช่น  โรค เอส- แอล – อี                 3.   สาเหตุอื่น ๆ  ได้แก่                                -   โรคนิ่วในไต                                -  โรคไตอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อ                                -   โรคเก๊าส์                                -   โรคไตจากการกินยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ                                 -   โรคถุงน้ำในไตที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์              สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้   มักทำให้เกิดโรคกับไตทั้ง 2 ข้างพร้อม ๆ กัน ข้อเขียนโดย ศจ.พญ.ลีนา    องอาจยุทธ    สาขาวิชาวักกะวิทยา    ภาควิชาอายุรศาสตร์   คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  นายกสมาคมโรคไต แห่งประเทศไทย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคไตจากเบาหวาน

โรคไตจากเบาหวาน            ผู้ที่เป็นเบาหวานมานานหลายปี จะเกิดภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะต่าง ๆโดยเฉพาะหลอดเลือดทั่วร่างกายจะแข็ง และหนา ทำให้เลือดไป เลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลง ถ้าควบคุมเบาหวานไม่ดี ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จะเกิดเร็วกว่าปกติ โดยเฉลี่ยโรคไตมักจะเกิดตามหลังโรคเบาหวานมากกว่า 10 ปี ขึ้นไป อ่านรายละเอียดต่อได้เลยค่ะ โรคไตจากเบาหวาน ผู้ที่เป็นเบาหวานมานานหลายปี จะเกิดภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหลอดเลือดทั่วร่างกายจะแข็ง และหนา ทำให้เลือดไป เลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลง ถ้าควบคุมเบาหวานไม่ดี ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จะเกิดเร็วกว่าปกติ โดยเฉลี่ยโรคไตมักจะเกิดตามหลังโรคเบาหวานมากกว่า 10 ปี ขึ้นไป ถ้าเริ่มมีอาการบวมตามแขน ขา ใบหน้า และลำตัว เป็นการบ่งชี้ว่าเริ่มมีความผิดปกติทางไต การตรวจพบโรคไตระยะเริ่มแรกในผู้ป่วยเบาหวาน คือความดันโลหิตสูง ไข่ขาวหรือโปรตีนรั่วในปัสสาวะ เมื่อไตเริ่มเสื่อมลง จะต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจหน้าที่ไต โดยค่ายูเรียไนโตรเจน ( BUN ) และคริเอตินิน ( Creatinine ) จะสูงกว่าคนปกติ ภาวะแทรกซ้อนทางไตในผู้ป่วยเบาหวาน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาการบวม ไตอักเสบจากการติดเชื้อ ไตวายฉับพลัน ไตวายเรื้อรัง   ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตพบประมาณ 30 – 35 % ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไต ได้แก่ เพศชาย พันธุกรรม ระดับน้ำตาลสูง ความดันโลหิตสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ การสูบบุหรี่ ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคไตจากเบาหวาน มีอาการซีด บวม ความดันโลหิตสูง อาการคันตามตัว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ระยะสุดท้ายจะอ่อนเพลีย คลื่นใส้ อาเจียน อย่างไรก็ดี การเกิดโรคไตจากเบาหวาน มักมีสิ่งตรวจพบเพิ่มเติมจากผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจากสาเหตุอื่นซึ่งก็คือ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน ได้แก่ อาการชาตามปลายมือ – เท้า เจ็บหน้าอก ตามัว แขนขาอ่อนแรง แผลเรื้อรังตามผิวหนังและปลายเท้า การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อป้องกันโรคไต ตรวดปัสสาวะ เพื่อหาโปรตีนทุกปี ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เท่ากับ หรือใกล้เคียงปกติ เท่าที่สามารถทำได้ รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณท์ปกติ หลีกเลี่ยงการใช้ยา หรือ สารที่เป็นอันตรายต่อไต เช่น ยาต้านการอักเสบระงับปวด สารทึบรังสี สำรวจ และให้การรักษาโรค หรือ ภาวะอื่นที่ทำให้ไตเสื่อมสมรรถภาพ เช่น การติดเชื้อทางปัสสาวะ การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน และเป็นโรคไต ตรวดปัสสาวะและเลือด เพื่อดูหน้าที่ไตเป็นระยะๆ กินยาตามแพทย์สั่งติดต่อกันและพบแพทย์ตามนัด งดบุหรี่ และแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลต่อหลอดเลือด ถ้าต้องรับประทานยาแก้ปวด หรือ ยาอื่น ๆ ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และเภสัชกร เมื่อมีอาการบวม ควรงดอาหารเค็ม รสจัด หมักดอง และอาหารกระป๋อง ควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ หรือ ใกล้เคียงมากที่สุด กินยาสม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเองเพราะคิดว่าสบายดีแล้ว ระวังอาหารที่มี โคเลสเตอรอลสูง รับประทานผักและปลามากขึ้น ควรตรวจอวัยวะอื่น ๆ ด้วย เช่น ตา หัวใจ ปอด สำรวจผิวหนัง และเท้าให้สะอาด ไม่มีแผลเรื้อรัง ระหว่างการรักษาด้วยเครื่องไตเทียม ควรรับประทานเนื้อสัตว์ และอาหารเค็มให้น้อยที่สุด ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด ตัวอย่างอาหารไขมันสูงที่ควรระวัง 1. อาหารโคเลสเตอรอลสูง อาหารทะเล เนื้อ – หมู ติดมัน กุ้ง หอย ทุเรียน เนย 2. อาหารไตรกลีเซอร์ไรด์สูง อาหารจำพวกแป้ง ของหวาน ผลไม้รสหวาน เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ ข้อเขียนโดย ศจ.พญ.ลีนา    องอาจยุทธ    สาขาวิชาวักกะวิทยา    ภาควิชาอายุรศาสตร์   คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  นายกสมาคมโรคไต แห่งประเทศไทย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การทำงานของดวงตา

การทำงานของดวงตา การทำงานของดวงตา           การที่คนเราจะมองเห็นชัดได้เกิดจากการที่แสงผ่านกระจกตาเลนส์แก้วตาแล้วหักเห ตกลงที่จอประสาทตาพอดี ถ้ามีอะไรก็ตามที่ทำให้แสงหักเหไม่ตกลงจอประสาทตาพอดี ก็ทำให้มองไม่ชัดเจนได้ เรียกว่ามีสายตาผิดปกติ (Refractive error)     สายตาปกติ    การมีสายตาผิดปกติแบ่งได้เป็น  สายตาสั้น Myopia แสงเข้าตาแล้วตกลงก่อนถึงจอประสาทตา ทำให้มองไกลไม่ชัด     สายตาสั้น      สายตายาวแต่กำเนิด Hyperopia แสงเข้าตาแล้วตกเลยจอประสาทตา ทำให้มองเห็นชัดแต่ที่ไกลๆ   สายตายาว      สายตาเอียง Astigmatism แสงเข้าตาแล้วโฟกัสแต่ละระนาบคนละจุดกัน ทำให้มองทั้งไกลและใกล้ไม่ชัด   สายตาเอียง      สายตายาวสูงอายุ Presbyopia จริงๆแล้วภาษาไทยใช้คำนี้ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากกรณีนี้เกิดจาก การที่เลนส์แก้วตาแข็งขึ้นตามวัยและกล้มเนื้อตาที่ใช้เพ่งในการมองใกล้ล้าลง ทำให้ไม่สามารถมองใกล้ได้ดี  การแก้ไขสายตาผิดปกติ ใช้หลักการที่แก้ไขวิธีการรวมแสงให้แสงตกลงจอประสาทตาพอดีจึงจะมองเห็นชัดขึ้น   แว่นตา เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ปลอดภัยที่สุดที่จะช่วยให้ผู้ที่มีสายตาผิดปกติมองชัดขึ้น แต่บางท่านมีข้อจำกัดที่ไม่สะดวกกับการใช้แว่นตา เช่น ผู้ที่มีสายตาสองข้างแตกต่างกันมากเกินไป ผู้ที่ชอบเล่นกีฬา หรือผู้ที่ประกอบอาชีพบางอย่างที่ไม่เหมาะกับการใช้แว่น คอนแทคเลนส์ ในปัจจุบันนี้ได้มีการออกแบบคอนแทคเลนส์ที่ใส่สบาย มีความคมชัดและคุณภาพดี ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ไม่ชอบใส่แว่นได้ แต่อย่างไรก็ดีการใช้คอนแทคเลนส์ต้องอาศัยการดูแลทำความสะอาดที่เหมาะสม ต้องเสียเวลาในการใส่ ถอดและล้าง นอกจากนี้บางท่านมีปัญหาจากการใช้คอนแทคเลนส์ เช่น ตาอักเสบ กระจกตาติดเชื้อ อีกทั้งต้องมีค่าใช้จ่ายของตัวเลนส์น้ำยาต่างๆเอง ซึ่งถ้าคิดถึงระยะยาวแล้วค่าใช้จ่ายส่วนนี้ค่อนข้างสูงทีเดียว การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกต ิ(Refractive Surgery) จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของท่าน การใช้แสงเลเซอร์แก้ไขสายตาผิดปกติด้วย LASIK สายตาสั้น ยาว เอียง สามารถแก้ไขได้โดย LASIK โดยอาศัยหลักการที่ไปปรับแต่งความโค้งของกระจกตาให้แสงตกกระทบแล้วโฟกัสลงจอประสาทตาพอดี เช่นสายตาสั้นที่มีกระจกตาโค้งนูนเกินไป ก็ทำให้แบนลง สายตายาวที่มีกระจกตาแบนเกินไปก็ทำให้นูนขึ้น สายตาเอียงที่มีกระจกตาเบี้ยวก็ทำให้หายเบี้ยว ส่วนสายตายาวสูงอายุอาจไม่สามารถแก้ได้โดยตรงด้วย LASIK แต่ LASIK ก็สามารถช่วยได้บ้างโดยทำให้ตานั้นมองใกล้ได้ดีขึ้นบ้าง  Basic Principle of Excimer Laser Excimer Laser เป็นแสงย่าน UV ( 193 nanometre ) โดยมีแหล่งกำนิดแสงจาก Gas Argon Fluoride แสงนี้มีความแม่นยำมากอยู่ในย่าน Micron (ดูรูปประกอบใน Basic LASIK.ppt เป็นรูปเส้นผมที่ใช้ Excimer Laser แกะสลักเป็นตัวอักษร) Excimer Laser มีวิวัฒนาการจากรุ่นแรกๆมาสู่รุ่นปัจจุบันดังนี้ First Generation: Broad Beam Laser เป็นการใช้แสงลำใหญ่ยิงลงไปทีเดียวเลย แต่พบว่ามีปํญหาความสม่ำเสมอของพลังงานในเนื้อแสง และถ้ายิงเบี้ยวไปก็จะเบี้ยว ( Decenter )ไปทั้งพื้นที่ใหญ่นั้นเลย จึงพัฒนาเป็น….. Second Generation: Slit Scanning Beam Laser ซึ่งมีขนาดลำแสงเล็กลง แต่ก็ยังไม่ละเอียดพอจึงปรับปรุงเป็น… Third Generation: Free Flying Spot Scanning Laser ซึ่งลำแสงมีขนาดเล็กลงได้ประมาณ 0.8-2.0 mm การที่ Spot size เล็กลงทำให้การควบคุมพลังงานได้ Homogenous มากขึ้น ยิงแบบ Random ทำให้ความผิดพลาดที่จะเกิด Decentration ลดลง Fourth Generation เราเริ่มจะได้ยินคำนี้บ่อยขึ้น ไม่มีใครให้คำนิยามที่แน่นอนแต่โดยรวมหมายถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า…………. Wavefront System ( Customized or Wavefront guided LASIK )   ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูล http://www.wavefrontthai.com/

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาวะหัวใจล้มเหลว ➤ รู้ทัน สาเหตุ อาการ วิธีรักษา 【อัพเดตล่าสุด 2565】

โรคหัวใจล้มเหลวคืออะไร ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ  ของร่างกายได้เพียงพอ หรืออาจหมายถึงภาวะที่หัวใจไม่สามารถคลายตัวหรือขยายตัวเพื่อรองรับเลือดได้ปกติ ทำให้เกิดความดันเลือดในช่องปอดมากขึ้น เกิดการคลั่งของเลือดในปอดมากขึ้น ทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายและอาจก่อให้เกิดอาการบวมของร่างกาย สาเหตุ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจรูมาติก หรือลิ้นหัวใจพิการ โรคหัวใจเป็นแต่กำเนิด โรคโลหิตจาง การดื่มเหล้ามาก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคติดเชื้อไวรัส ได้รับยาเคมีบำบัด หรือได้รับการฉายแสง ได้รับสารพิษบางชนิด โรคการนอนหลับบางชนิด ภาวะที่เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้มีอาการของโรคหัวใจล้มเหลวมากขึ้น เช่น ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างเฉียบพลัน ความดันโลหิตสูง การติดเชื้อบางชนิด เช่น การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ ภาวะที่หัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป ภาวะได้รับน้ำมากเกินความต้องการ การขาดการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารเค็มเกินไป รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด ยากลุ่มสเตียร์รอยด์ เป็นต้น อาการของโรคหัวใจล้มเหลว อาการเหนื่อยง่าย อาจเป็นได้ในขณะพัก หรือเวลาออกแรง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก นอนราบไม่ได้เวลากลางคืน อาจต้องลุกขึ้นมาเพื่อช่วยหายใจ ไอ ใจสั่น บวมที่ขา หรือในช่องท้องจนทำให้ตับและม้ามโตได้ ถ้าเป็นนานๆ อาจอ่อนเพลียไม่มีแรงผอมลงได้ การตรวจวินิจฉัย ซักประวัติ ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรค และการตรวจร่างกายโดยแพทย์ การตรวจพิเศษ    1. การตรวจเอกซ์เรย์ปอด ดูว่าเงาหัวใจโตหรือไม่ และดูว่าปริมาณของสารน้ำหรือเลือดคั่งในช่องปอดหรือไม่    2. การตรวจกราฟหัวใจ เพื่อดูว่ามีการบ่งชี้ถึงหัวใจโต หรือสงสัยว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ และมีลักษณะที่บ่งชี้ว่าหัวใจโต มีหัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดจังหวะหรือไม่    3. การตรวจด้วย ครื่องเสียงสะท้อนคลื่นความถี่หัวใจ (Echocardiography) ดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจว่ามีการบีบตัว หรือคลายตัวปกติหรือไม่ มีโรคลิ้นหัวใจพิการ รวมทั้งเยื่อหุ้มหัวใจว่าปกติหรือไม่    4. การเจาะเลือด เพื่อดูระดับของเกลือแร่บางชนิดในเลือด การทำงานของไต ไทรอยด์ หรือฮอร์โมนบางชนิด ปริมาณเม็ดเลือดแดง ระดับของ BNP หรือ NT pro BNP (Brain Natriuretic Peptides) ซึ่งพบว่ามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถใช้วินิจฉัย และใช้ติดตามการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวได้ การรักษา 1) การรักษาทั่วไป การควบคุมรักษา ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว การให้การศึกษา เพื่อให้ผู้ป่วยดูแลตนเองหลังจากกลับจากโรงพยาบาล ควบคุมการดื่มน้ำ ไม่ควรเกิน 1.5 ลิตรต่อวัน  อาหารเค็ม จำกัดเกลือ ไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน (ประมาณครึ่งช้อนชา) การชั่งน้ำหนักทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อดูว่ามีภาวะน้ำในร่างกายเกินหรือไม่ถ้าหากน้ำหนักเกินมากกว่า 2 กิโลกรัม ภายใน 3 วัน อาจพิจารณาใช้ยาขับปัสสาวะเอง หรือมาพบแพทย์ การควบคุมน้ำหนัก ถ้าอ้วนเกินไปควรลดน้ำหนักตัวลง แต่ถ้าหากผอมเกินไปอาจหมายถึง การขาดสารอาหาร หรือ ภาวะหัวใจวายรุนแรงและเรื้อรังได้ การออกกำลังกาย โดยมีโปรแกรมการออกกำลังกายตามความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย เช่น การยกน้ำหนัก หรือ การเล่นยกเวท ระมัดระวังไม่ให้เป็นหวัด ติดเชื้อง่าย งดดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ควบคุมอาหารไขมัน การมีเพศสัมพันธ์ ถ้าขึ้นบันได 1 ชั้นโดยไม่เหนื่อย ก็อาจมีเพศสัมพันธ์ได้ปกติ การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ การเดินทางควรระมัดระวัง ไม่ควรไปในสถานที่สูง อากาศเบาบาง อากาศที่ร้อนชื้นเกินไป 2) การรักษาโดยการใช้ยา ยากลุ่มอื่นๆที่เป็นยาใหม่ หรือยาที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินและเฉียบพลัน ไม่ได้นำมากล่าวในที่นี้ 3) การรักษาโดยใช้เครื่องมือพิเศษ  การฝังเครื่องช็อคหัวใจ (Implantable Cardioverter Defribrillators,ICD) เป็นเครื่องมือที่ใช้ฝังเข้าไปที่ตัวผู้ป่วยเพื่อทำการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งมักจะพบได้ในภาวะหัวใจล้มเหลวที่เป็นรุนแรง โดยเครื่องจะวินิจฉัยลักษณะการเต้นของหัวใจและทำการช็อคไปเองโดยอัตโนมัติ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตโดยเฉียบพลันได้ การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ CRT ( Cardiac Resynchronization Therapy) เป็นเครื่องที่ฝังเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวที่เป็นรุนแรง ที่มีลักษณะการนำไฟฟ้าผิดปกติ ทำให้การบีบตัวของหัวใจไม่สัมพันธ์กัน เพื่อทำให้มีการนำไฟฟ้าหัวใจที่ดีขึ้น เป็นผลทำให้หัวใจทำงานบีบตัวได้ดีขึ้น สามารถทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้นได้ นอนโรงพยาบาลน้อยลง และลดอัตราการเสียเสียชีวิตได้ อุปกรณ์ชนิดนี้อาจมีการเสริมหน้าที่เป็นแบบ ช็อคไฟฟ้าหัวใจได้ ตามข้อ 3.1 ด้วย เรียกว่า CRT-Defribrillator 4) การรักษาโดยการผ่าตัด  การรักษาโดยการผ่าตัด คือ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ( Cardiac Tranplantation ) ใช้ในกรณีที่ไม่มีทางรักษาโดยวิธีข้างต้น  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

HPV Vaccine วัคซีนสำหรับคุณผู้หญิง ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

เนื่องจากสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ oncogenic HPV ที่ปากมดลูก เชื้อ HPV สายพันธุ์ที่พบว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากที่สุดคือ เชื้อ HPV 16 และ HPV 18 ซึ่งเป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 70 การฉีด HPV vaccine เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ HPV เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV ได้ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ HPV Vaccine ผลการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ HPV 16/18 vaccine พบว่า HPV 16/18 vaccine มี - ศักยภาพสูงในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ความปลอดภัยสูง ไม่พบอาการข้างเคียงชนิดรุนแรง ประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ HPV 16/18 แบบเนิ่นนาน (persistent) และการป้องกันรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อ HPV 16/18 ช่วงอายุที่แนะนำให้ฉีด HPV Vaccine ประสิทธิภาพของ HPV vaccine จะสูงที่สุดในสตรีที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนก่อนถึงวัยที่จะมีเพศสัมพันธ์หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรคที่จะเกิดตามมา ในปัจจุบัน HPV vaccine มีความปลอดภัย มีศักยภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูง และมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรคของอวัยวะเพศสตรี ในสตรีช่วงอายุ 9-26 ปี ส่วนสตรีที่มีอายุมากกว่า 26 ปี ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรค สำหรับการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นซ้ำ (booster) ยังไม่มีข้อมูลว่าควรฉีดเมื่อไร ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่าระดับ antibody ยังคงป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้นานอย่างน้อย 5 ปี การฉีด HPV Vaccine การฉีด HPV vaccine ให้ฉีด 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อจำนวน 3 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 : ฉีดในวันที่กำหนดเลือก ครั้งที่ 2 : ฉีดในเดือนที่ 1-2 หลังจากการฉีดครั้งแรก ครั้งที่ 3 : ฉีดในเดือนที่ 6 หลังจากการฉีดครั้งแรก ข้อบ่งชี้ในการฉีด HPV Vaccine เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์เดียวกับวัคซีนที่ฉีด เพื่อป้องกันรอยโรคและมะเร็งอวัยวะเพศสตรีที่เกิดจากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์เดียวกับ วัคซีนที่ฉีด ข้อบ่งห้ามของการฉีด HPV Vaccine ผู้ที่มีภาวะ hypersensitivity ต่อสารประกอบในวัคซีน เช่น ยีสต์ และ adjuvants ชนิดต่าง ๆ ผู้ที่มีอาการที่บ่งชี้ว่าเคยมีภาวะ hypersensitivity หลังจากการฉีด HPV vaccine ครั้งแรก คำแนะนำที่ควรแจ้งให้ทราบก่อนการฉีด HPV Vaccine ควรอธิบายให้ผู้รับการฉีดวัคซีนเข้าใจดังนี้ การฉีด HPV vaccine ไม่สามารถใช้ทดแทนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ การฉีด HPV vaccine อาจจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV รอยโรคก่อนมะเร็ง และมะเร็งปากมดลูกได้ทุกราย การฉีด HPV vaccine ไม่สามารถใช้ป้องกันผล Pap smear ผิดปกติ และไม่สามารถใช้รักษารอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกได้ การฉีด HPV 16/18 vaccine ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อหรือรอยโรคที่เกิดจากเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่นนอกจาก HPV 16/18 ได้ การฉีด HPV vaccine ไม่ได้ป้องกันโรคที่เกิดจากสาเหตุอื่นนอกจากเชื้อ HPV เช่น ตกขาวหรือกามโรค ฯลฯ การฉีด HPV vaccine ในสตรีที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ระดับของ antibody อาจจะต่ำกว่าในสตรีทั่วไป หลังจากฉีด HPV vaccine แล้ว ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์แบบสำส่อน ควรมีเพศสัมพันธ์เชิงป้องกันการติดเชื้อ HPV ด้วย  ควรฉีดวัคซีนให้ครบ 3 ครั้ง ผลข้างเคียงของการฉีด HPV Vaccine โดยทั่วไปการฉีด HPV vaccine มีความปลอดภัยสูง ไม่พบอาการข้างเคียงชนิดรุนแรง อาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้แก่ 1. อาการข้างเคียงบริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น ปวด บวม แดง และคัน ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เป็นอยู่ชั่วคราวและหายไปเอง 2. อาการทั่วไป เช่น ไข้ พบประมาณร้อยละ 10 ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย และผื่นคันตามตัว อาการเหล่านี้ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อนและหลังการฉีด HPV Vaccine การทำ Pap smear ก่อนการฉีดวัคซีนขึ้นกับประวัติการมีเพศสัมพันธ์และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 1. ถ้ายังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ไม่จำเป็นต้องทำ Pap smear ก่อนการฉีดวัคซีน 2. ถ้าเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว      2.1 ถ้าไม่เคยทำ Pap smear มาก่อนหรือทำไม่สม่ำเสมอ แนะนำให้ทำ Pap smear เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อน            - ถ้าผลปกติ สามารถฉีดวัคซีนได้ และควรมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามคำแนะนำของแพทย์            - ถ้าผลผิดปกติ ให้ดูแลรักษาตามมาตรฐาน ถ้าหายแล้วอาจให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีด HPV vaccine ให้สตรีพิจารณา     2.2 ถ้าเคยทำ Pap smear มาแล้วอย่างสม่ำเสมอและผลปกติทุกครั้ง สามารถฉีดวัคซีนได้           หลังฉีด HPV 16/18 vaccine แล้ว ควรมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะเชื้อ HPV 16 และ HPV 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกประมาณร้อยละ 70 เท่านั้น การตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนการฉีด HPV Vaccine ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ HPV (HPV test) ก่อนการฉีด HPV vaccine เนื่องจากการตรวจหาเชื้อ HPV ไม่สามารถระบุได้ว่าเคยมีการติดเชื้อมาแล้วหรือไม่ ถ้าผลการตรวจให้ผลบวกก็บอกได้เพียงว่า มีการติดเชื้อ HPV อยู่ในปัจจุบันหรือไม่เท่านั้น การตรวจหา antibody ต่อเชื้อ HPV ยังไม่สามารถกระทำได้ในทางปฏิบัติ จึงไม่แนะนำให้ตรวจ การตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนการฉีด HPV vaccine จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนสูงขึ้นมาก ทำให้การฉีดวัคซีนไม่คุ้มทุน สตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว สตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว สามารถฉีด HPV vaccine ได้ สตรีที่มีผล Pap smear ผิดปกติหรือ HPV test ให้ผลบวก ควรได้รับการดูแลตามมาตรฐาน และสามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ควรให้คำแนะนำว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงถ้าเคยติดเชื้อ HPV มาก่อน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอด้วย สตรีที่เคยเป็นรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกมาก่อน สตรีที่เคยเป็น CIN มาก่อน ถ้าได้รับการรักษาแล้วสามารถฉีด HPV vaccine ได้ แต่ต้องมารับการตรวจติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด และต้องเน้นย้ำว่าถ้าสตรีมีการติดเชื้อ HPV 16/18 แล้ว การฉีด HPV 16/18 vaccine ไม่ได้มีผลในเชิงรักษาและอาจจะได้ประโยชน์น้อยในการป้องกันการติดเชื้อ HPV 16/18 และรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อ HPV 16/18  สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่เลี้ยงลูกด้วยนม HPV vaccine จัดอยู่ใน category B ไม่แนะนำให้ฉีดในสตรีตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าจะไม่มีรายงานการก่อทารกพิการในสัตว์ทดลอง ถ้าตั้งครรภ์ในขณะที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ 3 ครั้ง ให้ฉีดเข็มถัดไปจนครบในระยะหลังคลอด ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่า antigens ของ HPV vaccine และ antibodies ที่ร่างกายสร้างขึ้นออกมากับน้ำนมหรือไม่ แต่เนื่องจาก HPV vaccine ประกอบด้วย virus-like particles ของเชื้อ HPV ซึ่งไม่ก่อการติดเชื้อ (noninfectious) จึงไม่มีผลกระทบในด้านความปลอดภัยต่อทั้งมารดาและทารก  สตรีที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ การมีภูมิคุ้มกันต่ำไม่ได้เป็นข้อบ่งห้ามของการฉีด HPV vaccine แต่การตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันอาจจะน้อยกว่าสตรีที่มีภูมิคุ้มกันปกติ ชมรมคอลโปสโคปีและพยาธิสภาพปากมดลูกแห่งประเทศไทย (TSCCP) บทความที่เกี่ยวข้อง 10 ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนเอชพีวี เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก ไขข้อข้องใจทำไมต้องฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก?

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

วัณโรคดื้อยา

วัณโรคดื้อยา           อ่านบทความจาก สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับวัณโรคดื้อยา ได้ที่นี่ค่ะ วัณโรคดื้อยา           วัณโรคดื้อยาในประเทศไทยเป็นปัญหาที่พบมายาวนานตั้งแต่เริ่มมีโครงการควบคุมวัณโรคมาเกือบ 50 ปี เนื่องจากประเทศไทยเราควบคุมวัณโรคไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ผู้ป่วยขาดยาบ่อยครั้งและเกิดการดื้อยาขึ้น ในอดีตก่อนปี 2528 ซึ่งเริ่มมีการใช้ระบบยาระยะสั้น 6 เดือน ในการรักษา ผู้ป่วยวัณโรค ปัญหาของวัณโรคดื้อยายังไม่อยู่ในระดับที่รุนแรงและการดื้อยาจะพบเพียงการดื้อต่อยา isoniazid และ streptomysin เป็นหลักเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยยังรักษาให้หายขาดโดยใช้สูตรยาที่มี rifampicin ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถานการณ์วัณโรคดื้อยายังคงมีอยู่หลังจากเริ่มมีการใช้สูตรยาระยะสั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีรายงานถึงการดื้อยาชนิดใหม่ของวัณโรคคือ วัณโรคดื้อยาหลายขนาน (multidrug resistance tuberculosis, MDR-TB) ที่สูงในหลายๆสถานพยาบาล ซึ่งสาเหตุหลักของ MDR-TB เกิดจากการใช้ระบบยาระยะสั้นตามยุทธศาสตร์ DOTS ยังไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาของ MDR-TB มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและซับซ้อนเพราะระบบยาสำรองมีน้อย และบางครั้งในผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังไม่มีระบบกำกับการกินยาที่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยวัณโรคเองควรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างดี           คำนิยามที่เกี่ยวข้อง                 Primary drug resistance หมายถึง การดื้อยาในผู้ป่วยที่ไม่เคยรักษามาก่อน, Acuquired drug resistance หมายถึงการดื้อยาในู้ป่วยที่เคยรับการรักษามาก่อนหรือกำลังรักษา, MDR-TB คือ การดื้อยาวัณโรคอย่างน้อย 2 ขนาน ที่สำคัญที่สุดคือ INH และ Rifam โดยอาจจะดื้อยาชนิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้, DOTS-Plus for MDR-TB คือการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคเพื่อแก้ไขและลดปัญหา MDR-TB ด้วยการใช้ 2 linedrug (Cat4)ภายใต้ระบบ DOTS ที่มีอยู่เดิมเป็นหลักโดยมีการใช้ผลการทดสอบความไวของยาประกอบการพิจารณา                 ใครบ้างที่น่าจะเป็น MDR-TB ?? หลักการค้นหาผู้ป่วยที่สงสัย MDR-TB การพิจารณาตัดสินใจว่าวัณโรคดื้อยาหลายขนานหรือไม่ มีความสำคัญ  ผู้ป่วยที่มีโอกาสดื้อยาวัณโรคหลายขนานได้แก่            ผู้ป่วยที่มีโอกาสดื้อยาวัณโรคหลายขนาน ก่อนการรักษา ได้แก่ 1.ผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ร่วมด้วย , ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย MDR-TB รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ 2. กลุ่มอื่น ๆ เช่นผู้ป่วยตามแนวชายแดน ผู้ป่วยเรือนจำ ผู้ป่วยมีโอกาสดื้อยาวัณโรคหลายขนานระหว่างการรักษา ได้แก่           1.กำลังรักษา cat 1 แล้วอาการไม่ดีขึ้นร่วมกับเสมหะไม่เป็นลบเมื่อสิ้นสุดเดือนที่ 2 และหลังจากให้การรักษาด้วยยา 4 ชนิดต่ออีก 1 เดือน เสมหะยังเป็นบวกอยู่           2.กำลังรักษา cat 1 แล้วผลการรักษาเป็นล้มเหลว และแพทย์ผู้รักษามั่นใจว่าผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอ โดยเฉพาะได้รับการรักษาโดยวิธี DOTS กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็น MDR-TB  กำลังรักษาด้วย cat2 และผลเสมหะไม่เปลี่ยนเป็นลบ เมื่อสิ้นสุดการรักษาเดือนที่ 3  กำลังรักษาด้วย cat2 และผลเสมหะไม่เปลี่ยนเป็นลบ เมื่อสิ้นสุดการรักษาเดือนที่ 5 TAD ที่กลับมาแล้วผลเสมหะยังบวก        การวินิจฉัย MDR-TB ในการวินิจฉัยจำเป็นอย่ายิ่งที่จะต้องมีผลการตรวจเสมหะหรือสิ่งสงตรวจที่บ่งว่ามีการดื้อยา เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย มีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้ 1) การส่ง Specimen ควรหยุดยาวัณโรคก่อนส่งสิ่งสงตรวจเพื่อทดสอบความไวของยา (drug susceptibility test DST) 2 วัน 2) ส่งสิ่งสงตรวจ จาก ร.พ. ไปทำการเพาะเชื้อวัณโรค ที่ รพท. หรือสำนักงานป้องกันควบคุมโรค เพื่อทดสอบความไวของยา 2 วัน 3)การตอบผล สคร 7 จะแจ้งผลทาง website        การให้การดูแลรักษเบื้องต้นระหว่างรอ DST ในกรณีที่สงสัยว่ามีการดื้อยาวัณโรคหลายขนานเกิดขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีโอกาสที่จะมีการดื้อยาวัณโรคหลายขนาน ควรปฏิบัติดังนี้ 1.ส่งเสมหะเพาะเชื้อเพื่อทำ DST  2.ระหว่างรอผลเพื่อทดสอบความไวของยา (drug susceptibility test DST) ควรมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้    2.1 กรณีที่กำลังรักษาด้วยระบบยา cat1 และผลการรักษาเป็น Failure มีแนวทางปฏิบัติ 2 ทางเลือกดังนี้       2.1.1 พิจารณาเปลี่ยนระบบยาเป็นระบบยาแนวที่ 2 ได้เลยคือ จะให้การรักษาด้วยระบบยา empiric cat4(1) (หัวข้อ 6.1)        2.1.2 ให้การรักษาด้วยระบบยา cat1 ซึ่งกำลังได้รับอยู่ขณะนั้น (H และ R) ไปก่อนและรอผล DST กรณีที่พบว่ามีการล้มเหลวจากการรักษาด้วยระบบยา cat1 และแน่ใจว่าผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอด้วยระบบ DOT ที่มีคุณภาพไม่ควรเปลี่ยมมาใช้ระบบ cat 2 เนื่องจากผลการรักษาหายขาดต่ำ แนวทางในการพิจารณาเลือกว่าจะปฏิบัติ ตามข้อ 2.1.1 หรือ 2.1.2 สามารถใช้เกณฑ์ 5 ข้อ เพื่อพิจารณาโอกาสเกิดการดื้อยาวัณโรคหลายขนานดังนี้ 1.การตอบสนองทางคลีนิค (อาการไอ ไข้ การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว) 2.ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเสมหะระหว่างการรักษา (Fall and rise) 3.ประวัติการได้รับ DOT ในการรักษาครั้งก่อน 4.ภาพรังสีปอด ณ วันที่วินิจฉัยว่ามีการล้มเหลวจากการรักษาด้วยระบบยา Cat 1 5.การมีประวัติปัจจัยเสี่ยงต่อการดื้อยาหลายขนานก่อนการรักษา       2.2 กรณีกำลังรักษาด้วยระบบยา cat2 และผลการรักษาเป็น failure ระหว่างรอผล DST มีแนวทางปฏิบัติ 2 ทางเลือกคือ พิจารณาเปลี่ยนระบบยาเป็นระบบยาแนวที่ 2 ได้เลย คือจะให้การรักษาด้วยระบบยา empiric Cat4(2)(หัวข้อ 6.2) ให้ยาระบบยา cat2 (H R และ E) ไปก่อนและรอผล DST ทั้งนี้แนวทางการพิจารณา      2.3 กรณีอื่น ๆ นอกจากข้อ 2.1 และ 2.2 ควรให้ระบบยาเดิมที่ผู้ป่วยกำลังรักษาไปก่อนและรอผล DST  3.เมื่อได้รับผล DST กลับมาแล้วมีแนวทางการนำผล DST มาประกอบการปรับเปลี่ยนระบบยาดังนี้     3.1กรณีข้อ 2.1 และ 2.2 ถ้าการรักษาระหว่างรอผล DST ยังคงใช้ระบบยาเดิมอยู่ให้ปรับเปลี่ยนระบบยาตามผล DST     3.2กรณีข้อ 2.1 และ 2.2 ถ้าอยู่ระหว่างที่รอผล DST ได้มีการเริ่มระบบยา empirical Cat 4(1) หรือ empirical Cat 4(2) ไปแล้ว ให้พิจารณาปรับเปลี่ยนระบบยาตามผล DST โดยอาศัยการตอบสนองของเสมหะระหว่างการรักษาด้วยยาต้านวัณโรคแนวที่ 2 ประกอบ ซึ่งบางครั้งยังสามารถให้การรักษาด้วยระบบยาเดิมคือ empirical Cat 4(1) หรือ empirical Cat 4(2) ต่อไปได้    3.3 กรณีอื่น ๆ นอกจากข้อ 2.1 และ 2.2       3.3.1 กรณีที่รอผล DST เป็น MDR-TB ให้ใช้ผล DST ของยาทั้ง 7 ขนานหรือยาพื้นฐานที่มีเพื่อประกอบการรักษาด้วยระบบยาตามผล DST โดยใช้หลักการตามหัวข้อที่7(การรักษากรณีเป็น MDR)       3.3.2 กรณีที่ผล DST ไม่เป็น MDR-TB ให้ใช้การตอบสนองทางคลินิกและผลการตรวจเสมหะด้วยวิธี direct smear ระหว่างรอผล DST พิจารณาประกอบซึ่งบางกรณีใช้ยาระบบเดิมไปก่อนได้โดยไม่เปลี่ยนเป็นยาวัณโรคแนวที่ 2  ถ้าผล DST ที่กลับมาภายหลังและการตอบสนองทางคลินิกและผลการตรวจด้วย direct smear ระหว่างรอผล DST ไม่มีความสอดคล้องกัน ควรใช้ประวัติสม่ำเสมอของการรับประทานยา ประกอบกับการตอบสนองทางคลินิก และผลการตรวจ ด้วย direct smear เป็นหลักในการพิจารณาระบบยาที่จะใช้ ในกรณีที่จะใช้ยาวัณโรคแนวที่ 2 ควรยึดหลักข้อ 7 ให้ทำ DOT โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นพี่เลี้ยง หรืออาจจะส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ        ขอขอบคุณ        สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคมาลาเรีย

โรคมาลาเรีย   ลักษณะโรค            โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อ มียุงก้นปล่องเป็นพาหะเกิดจากเชื้อ Plasmodium ซึ่งเป็นสัตว์เซลเดียวอยู่ใน class Sporozoa มีวงจรของเชื้อระยะต่างๆ สลับกันคือ ระยะมีเพศและไม่มีเพศ และมีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและยุง มาลาเรียเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญมาก ประชากรร้อยละ 36 ของประชากรจากกว่า 90 ประเทศทั่วโลกอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่กระจายของโรคมาลาเรีย สำหรับประเทศไทยมาลาเรียยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญเช่นกัน แม้ว่าโรคนี้จะมีอัตราป่วยและอัตราตายลดลง แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา อัตราป่วยและอัตราตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  สาเหตุ           เชื้อ Plasmodium ที่ก่อโรคในคนมี 4 ชนิด ได้แก่ P.falciparum, P.vivax, P.malariae และ P.ovale ในประเทศไทยเชื้อที่พบส่วนใหญ่เป็นชนิด P.falciparum และ P.vivax ส่วนน้อยเป็นชนิด P.malariae, P.ovale ยุงพาหะนำโรคที่พบในประเทศไทย ได้แก่ Anopheles dirus, An.minimus, An. maculatus, An. sundaicus, An. aconitus และ An. pseudowillmori  วิธีการติดต่อ            เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียมีเชื้อมาลาเรียกัดคน ยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรีย (sporozoite) จากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือดของคน จากนั้นเชื้อจะเดินทางไปที่ตับและเกิดการแบ่งเซลแบบไม่อาศัยเพศ ทำให้ได้ merozoite นับพันตัว จากนั้นเซลตับจะโตและแตกออกปล่อย merozoite ออกมาในกระแสเลือด ระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการของโรค คือ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ สำหรับเชื้อ P.vivax และ P.ovale เชื้อบางส่วนยังคงอยู่ในเซลตับที่เรียกว่า "hypnozoite" ทำให้เกิดการกลับเป็นซ้ำ (relapse) ได้            หลังจากที่ merozoite เข้าสู่กระแสเลือด เชื้อจะเดินทางต่อไปยังเม็ดเลือดแดง และเจริญเป็น trophozoite และแบ่งตัวอีกครั้งเป็น merozoite 6-30 ตัว เมื่อเม็ดเลือดแดงแตก merozoite จะเดินทางไปยังเม็ดเลือดแดงอื่น แล้วเจริญแบ่งตัววนเวียนอยู่เช่นนี้ merozoite บางตัวจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเชื้อมีเพศ (gametocyte) เพศผู้เพศเมีย เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดคนที่มี gametocyte ในกระแสเลือด เชื้อเหล่านี้จะผสมพันธุ์กันเป็น zygote เจริญเป็น oocyst ฝังตัวที่กระเพาะยุง แล้วแบ่งตัวเป็น sporozoite ไปยังต่อมน้ำลายเพื่อรอการกัดของยุงอีกครั้ง  ระยะฟักตัว P.falciparum ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน  P.vivax และ P.ovale ระยะฟักตัวประมาณ 8-14 วัน  P.malariae ระยะฟักตัวประมาณ 18-40 วัน ระยะติดต่อ            ยุงที่มากัดคนสามารถติดเชื้อได้ตลอดระยะเวลาที่คนนั้นมี gametocyte ในกระแสเลือด ในผู้ป่วย P.malariae ที่ได้รับการรักษาไม่เพียงพออาจจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ถึง 3 ปี หรือ 1-2 ปี ใน P.vivax และไม่เกิน 1 ปี ใน P.falciparum  อาการและอาการแสดง            อาการและอาการแสดงของมาลาเรียไม่มีลักษณะพิเศษบ่งเฉพาะ โดยมากจะมีอาการนำคล้ายกับเป็นหวัด คือ มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาการนี้จะเป็นเพียงระยะสั้น เป็นวัน หรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อ ชนิดของเชื้อ จำนวนของ sporozoite ที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป ภาวะภูมิคุ้มกันต่อเชื้อมาลาเรียของผู้ป่วย ภาวะที่ผู้ป่วยได้รับยาป้องกันมาลาเรียมาก่อน หรือได้รับยารักษามาลาเรียมาบ้างแล้ว            อาการจับไข้ ซึ่งเป็นอาการที่เด่นชัดของมาลาเรียประกอบด้วย 3 ระยะคือ ระยะสั่น ระยะร้อน และระยะเหงื่อออก ปัจจุบันจะพบลักษณะทั้ง 3 ระยะได้น้อยมาก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยตลอดเวลา โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นมาลาเรียครั้งแรก เนื่องจากในระยะแรกๆ ของการติดเชื้อมาลาเรีย เชื้ออาจเจริญถึงระยะแก่ไม่พร้อมกัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากได้รับเชื้อในเวลาต่างกัน ทำให้เกิดมีเชื้อหลายระยะ ดังนั้นการแตกของเม็ดเลือดแดงจึงไม่พร้อมกัน ทำให้ผู้ป่วยมาลาเรียในระยะแรกอาจมีไข้สูงลอยตลอดวันได้ แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งแล้วการแตกของเม็ดเลือดแดงพร้อมกัน จึงเห็นผู้ป่วยมีการจับไข้หนาวสั่นเป็นเวลา  ระบาดวิทยาของโรค           มาลาเรียมีขอบเขตการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางระหว่างเส้นรุ้งที่ 640 เหนือ ถึงเส้นรุ้งที่ 320 ใต้ และครอบคลุมพื้นที่ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 400 เมตร เช่น บริเวณ Dead sea จนถึงพื้นที่ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2,600 เมตร เช่น ประเทศเคนยา ปัจจุบันมีประชากรถึง 2,020 ล้านคนจากกว่า 90 ประเทศ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเป็นมาลาเรียได้  falciparum มาลาเรีย จะพบได้บ่อยในแอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชีย พบได้ทั้งในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในเขตหนาวจะพบไม่บ่อย  vivax มาลาเรีย พบได้ทั้งเขตร้อนและเขตอบอุ่นแถบลาตินอเมริกา ตุรกี จีน และอินเดียตอนกลาง พบได้น้อยที่แอฟริกา โดยเฉพาะแถบแอฟริกาตะวันตก  ovale มาลาเรีย พบได้บ่อยในแอฟริกา โดยเฉพาะในแถบตะวันตกของทวีป  malariae มาลาเรีย พบได้ทั้งในเขตร้อนและใกล้เขตร้อน โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาตะวันออกและประเทศอินเดียทางตะวันตก  ประเทศไทย แหล่งของเชื้อมาลาเรียอยู่บริเวณป่าเขาชายแดนของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-พม่า และไทย-กัมพูชา จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงมาโดยตลอด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง สระแก้ว ตราด และจันทบุรี ในตอนกลางของประเทศ พบผู้ป่วยมาลาเรียได้น้อย และไม่พบการติดเชื้อในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล พบผู้ป่วยกระจายทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 10-35 ปี อัตราส่วนของผู้ป่วยเพศชายจะมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 2 เท่า พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน  การรักษา            การรักษามาลาเรีย แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ การรักษาจำเพาะ            การรักษาจำเพาะ คือการให้ยา schizontocide กำจัดเชื้อมาลาเรียที่เป็น schizont ซึ่งเป็นระยะไร้เพศในเม็ดเลือดแดง การเลือกชนิดของยา schizontocide นั้น ควรพิจารณาประสิทธิภาพของยาต่อเชื้อมาลาเรีย ตามลักษณะการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในพื้นที่ต่างๆ กัน  การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อน            การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อน คือ การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ป่วยยังมีเชื้อมาลาเรีย หรือภายหลังที่เชื้อมาลาเรียหมดแล้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรีย falciparum ถ้าได้รับการรักษาช้า จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้  การป้องกันการแพร่โรค           การป้องกันการแพร่โรค คือ การใช้ยา gametocytocide ฆ่าเชื้อมาลาเรียระยะติดต่อ คือ gametocyte โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่อยู่ในท้องที่ที่มียุงเป็นพาหะ  รายละเอียดของการใช้ยารักษามาลาเรีย ศึกษาได้จาก แนวทางเวชปฏิบัติโรคติดเชื้อเล่ม 1 โรคติดต่อ. กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข 2544  ประสบการณ์ด้านโรคติดเชื้อในประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย 2542 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ความจำของกล้ามเนื้อ

Muscle Memory ความจำของกล้ามเนื้อ ท่านอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Muscle           memory ไม่ว่าจะอ่านจากนิตยสารกอล์ฟหรือตำรากอล์ฟทั่วไป มักใช้คำนี้ซึ่งหมายถึง การเรียนกอล์ฟ จะให้ได้ดี ต้องฝึกจนให้กล้ามเนื้อจำได้ โดยสามารถสั่งให้ลูกกอล์ฟไปทางไหน ได้โดยไม่ต้องคิดว่าจะ ตีอย่างไร หมุนตัว ถ่ายน้ำหนักแบบไหน           Muscle memory เป็นคำที่ใช้อย่างแพร่หลายและ เป็นที่เข้าใจกัน ถ้าจะใช้ศัพท์ทางการแพทย์หรือทางสรีระวิทยาจะใช้คำว่า Motor memory จะถูกต้องกว่า เพราะกล้ามเนื้อไม่มีความจำ ทำหน้าที่หดตัวและคลายตัวออก เท่านั้น โดยรับคำสั่งและควบคุมจากสมองส่วนหน้า (cerebral cortex) บริเวณMotor area และผสมผสานจากสมองส่วนต่าง ๆ อีกหลายส่วนเพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างปราณีตและเป็นอัตโนมัติ           ทางด้านการแพทย์ สามารถผ่าตัดย้ายที่เกาะของกล้ามเนื้อเปลี่ยนหน้าที่ของกล้ามเนื้อ ได้ เช่น ผู้ป่วยที่เส้นประสาทเรเดียลเสีย (Radial nerve injury) ผู้ป่วยไม่สามารถเหยียดนิ้วมือได้ การผ่าตัดรักษาโดยย้ายที่เกาะปลายกล้ามเนื้อที่งอข้อมือ ไปต่อกับเอ็นที่เหยียดนิ้วมือ ผู้ป่วยก็สามารถเหยียดนิ้วมือได้ ระยะแรกอาจต้องฝึกความรู้สึกว่า งอข้อมือก่อน ฝึกบ่อย ๆ ก็จะสามารถใช้กล้ามเนื้อที่งอข้อมือ ให้สามารถเหยียดนิ้วมือได้จนเป็นอัตโนมัติ หรือแม้กระทั่งยกกล้ามเนื้อทั้งมัดที่งอเข่าบริเวณต้นขาด้านใน (Gracilis muscle) ยกกล้ามเนื้อมัดนี้มาไว้ที่ต้นแขน (ในกรณี ผู้ป่วยที่งอข้อศอกไม่ได้และไม่สามารถแก้ไขโดยวิธีอื่นได้) ต่อที่เกาะต้นไว้ที่หัวไหล่ ที่เกาะปลายต่อกับเอ็นที่งอข้อศอก หลังจากนั้นต่อหลอดเลือด , เส้นประสาท เข้ากับกล้ามเนื้อมัดนี้ ( เรียก Free gracilis muscle transfer ) เมื่อเส้นประสาททำงานได้ดี ก็สามารถบังคับให้กล้ามเนื้อมัดนี้งอข้อศอกได้            จากตัวอย่างผู้ป่วย จะเห็นได้ชัดเจนว่า กล้ามเนื้อมีหน้าที่สำคัญคือ หดตัว จากการกระตุ้นผ่านระบบประสาท เท่านั้น เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวก็จะดึงที่เกาะต้น และที่เกาะปลายเข้าหากัน ไม่สำคัญว่า เดิมกล้ามเนื้อจะอยู่ที่ตำแหน่งไหน หรือมีหน้าที่อะไรทั้งนั้น ความจำ (memory)           ความจำเป็นความสามารถของสมอง (ไม่ใช่ของกล้ามเนื้อ) ที่จะเก็บข้อมูลไว้ และสามารถเรียกกลับมาใช้ได้ กระบวนการที่ทำเกิดความจำ           ต้องอาศัยข้อมูลที่เข้ามาที่สมอง จากตัวรับความรู้สึกต่าง ๆ เช่น รับภาพจากจอตา , รับเสียงผ่านอวัยวะรับเสียงในหูชั้นใน (Organ of corti) รับรู้ตำแหน่งต่าง ๆ ของแขน ขา ข้อ ว่าอยู่ตำแหน่งใดผ่าน proprioceptive sense            การเก็บความจำขึ้นอยู่กับสมองหลายบริเวณ ซึ่งร่วมถึงระบบการทำงานของระบบการรู้สติ เพื่อให้สมองตื่นตัวดี จึงจะสามารเก็บความจำได้ ถ้าไม่สนใจ สมองไม่ตื่นตัว เช่น หลับหรือหมดสติ ก็ไม่สามารถเก็บความจำได้ ชนิดของความจำ 1. ความจำการรับความรู้สึก (Sensory memory) ความสามรถจำข้อมูลที่ส่งเข้ามา ที่สมองในช่วงสั้น ๆ เช่น การมองวัตถุแล้วเบนสายตาไปที่อื่น ภาพจะคงที่นานประมาณ 250 มิลลิวินาที จากนั้นจะจางหายไปในเวลาไม่ถึง 1 วินาที โดยถูกแทนที่สัญญาณภาพที่เข้ามาใหม่ การได้ยินเสียงจะจำได้ไม่ถึง 5 วินาทีถ้าไม่มีการกระตุ้นซ้ำ 2. ความจำระยะสั้น (Short-term memory ) เป็นความจำช่วงสั้น 10 วินาที จนถึง 2 – 3 นาที เช่น การจำเบอร์โทรศัพท์ อ่านทบทวน สามารถจะจำเบอร์และหมุนได้และจะสั่งใน ระยะสั้น ๆ ถ้าไม่มีการทบทวนซ้ำ 3. ความจำระยะยาวหรือความจำถาวร (Long term memory) สามารถจำได้นาน ๆ เป็นวัน เป็นปี เช่น จำชื่อตนเอง สภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย กลไกลการเกิดความจำ ความจำระยะสั้น  จากการศึกษา  1. ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเปลือกสมอง (cerebral cortex) 1 นาที พบว่าบริเวณที่ถูกกระตุ้นยังมีศักย์ไฟฟ้า ต่อไปอีก ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังหยุดกระตุ้น เรียก reverberating circuit ซึ่งเป็นรากฐานของความจำระยะสั้น ซึ่งจะหายไปหลังจากมี circuit อันใหม่เข้ามา  2. กระตุ้นสมอง 2 – 3 นาที แล้วกระตุ้นซ้ำอีก เซลล์ประสาทจะตอบสนองได้รุนแรงกว่าปกติ เรียก post titanic potentiation เข้าใจว่ามีการเปลี่ยนแปลงการประสาน (synapse) ของเซลล์ประสาทชั่วคราว ทำให้เกิดความจำระยะสั้นได้  ความจำระยะยาว 1. การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของจุดประสานประสาท (Synapse) พบว่าเส้นใย ประสาท (Terminal fibrils) ที่จุดประสานประสาท ของเซลล์สมองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นแต่บริเวณเซลล์ประสาทของสมองที่ทำงานลดลง เช่น สัตว์ทดลองที่ตาบอด จำนวน Terminal fibrils ที่มาที่จุดประสานประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็นน้อยลง จากการศึกษา เชื่อว่า กลไกลความจำถาวรเกิดจาก การเปลี่ยนรูปร่าง จำนวนของจุด ประสานประสาท อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร เพิ่มการทำงานของจุดประสานประสาท ทำให้สัญญาณประสาทผ่านได้ง่ายขึ้น การทำงาน การทบทวนความจำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จะทำให้ความจำเรื่องนั้น ๆ ดีขึ้นและลืม ได้ยาก 2. การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี  2.1 การทดลองในหนู พบว่า เซลล์ประสาทที่ทำงานมาก ๆ จะมีการสร้างโปรตีน และ RNA เพิ่มขึ้น การให้สาร Actinomycin D ที่ยับยั้งการสร้าง RNA จะลดความจำชั่วคราวในหนู 2.2 การทดลองใช้ Growth hormone เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และมีอิทธิพล ต่อความจำถาวร 2.3 ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มีผลต่อการเกิดความจำ เด็กที่ขาดฮอร์โมนนี้ จะทำ ให้เกิดปัญญาอ่อนได้ ความจำระยะยาวมี 2 ชนิด 1. Reflexive (Implicit) memory เป็นความจำที่เกิดโดยอัติโนมัติ ไม่ต้องการความคิด ความจำชนิดนี้เกิดจากการฝึก หรือทำซ้ำบ่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เกี่ยวข้องกับทักษะการทำงานของร่างกาย บางทีเรียกว่า muscle memory เช่น การเล่นกีฬา , การตีกอล์ฟ , การขับรถ , การทำงานในชีวิตประจำวัน 2. Declarative (Explicit) memory  เป็นความจำที่ต้องคิด มีสติ เอาใจใส่ ตั้งใจ เพื่อที่จะเรียกข้อมูลที่เก็บไว้ เอามา อธิบายเป็นคำพูด หรือการเขียนบรรยายได้ สามารถเปรียบเทียบ หรือแปรผลได้ ข้อสรุปสำหรับนักกอล์ฟ 1. ท่านจะต้องแสวงหาข้อมูล จากการอ่านตำรากอล์ฟ ดูทีวี หรือจากครูผู้ฝึกสอน กอล์ฟ เพื่อทำให้เกิดประสบการณ์และมีการเปลี่ยนแปลงสรีระวิทยาของสมอง (ไม่ใช่กล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว) 2. ฝึกการกระทำโดยใช้ความพยายาม เพื่อให้การเรียนรู้ได้ผลและมีประสิทธิภาพดีขึ้น ควรจะเรียนกับครูผู้ฝึกสอนกอล์ฟ จะได้ผลดีกว่าถ้าทำไม่ได้ ต้องเรียนรู้การปรับสภาพร่างกาย ที่สามารถจะใช้วงสวิงได้ เช่น การบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัวของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ 3. ฝึกจำการรับความรู้สึก เช่น ท่าจรดกอล์ฟ แบ็คสวิง ดาวน์สวิง อิมแพ็ค และ ฟอลโลว์ทรู ตรวจสอบแต่ละตำแหน่ง โดยดูจากกระจก หรือถ่าย VDO ฝึกหลับตาสามารถรับรู้ความรู้สึกของตำแหน่งต่าง ๆ ได้(ส่วนใหญ่เราจะรับความรู้สึกจากตา ทำให้การเรียนรู้ความรู้สึกของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีน้อย) ฝึกจัดท่าตำแหน่งต่างๆจนเกิดความเคยชิน 4. ฝึกแต่ละขั้น ทำซ้ำจนเกิดความจำระยะสั้น ซึ่งต้องฝึกซ้ำ ๆ บ่อย ๆ อย่างน้อย 3 – 4 สัปดาห์ แล้วจึงฝึกขั้นต่อไป ข้อเสียของผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องความจำ คือ จะฝึกที่ละหลาย ๆ อย่าง ปะปนกัน ทำให้ไม่มีความจำระยะสั้นที่ถูกต้องแม้แต่อย่างเดียว ทำให้การเล่นกอล์ฟไม่สามารถควบคุมวงสวิงได้ 5. กอล์ฟทิป บางครั้งไม่ได้ผล หรือเป็นอันตรายสำหรับวงสวิงของท่าน นักกอล์ฟที่ ขยันอ่านค้นคว้ามีทิปใหม่ ๆ ซึ่งกอล์ฟทิปบางอย่างก็แนะนำตรงข้ามกันก็มี ทำให้เกิดสับสนขาดความมั่นใจและเมื่อยังไม่ได้นำมาฝึกจนใช้ได้แน่นอนแล้ว จะทำให้ควบคุมวงสวิงไม่ได้ กอล์ฟทิปหลาย ๆ อัน ไม่เหมาะสำหรับกับนักกอล์ฟทุกคน ต้องเลือกสิ่งที่เรานำเอามาใช้ แล้วเกิดประโยชน์ได้จริง เพราะ รูปร่าง ความแข็งแรง การยืดเหยียดของนักกอล์ฟแต่ละคนแตกต่างกันออกไป 6. การซ้อมบ่อย ๆ ในวงที่ไม่ดีจนเกิดความเคยชินทำให้แก้ไขยากขึ้น เช่น นักกอล์ฟที่ เล่นมานาน ๆ แต่วงสวิงไม่ดี ตีสไลด์ ไม่ได้ระยะ การแก้ไขจะยากมากขึ้น ต้องเริ่มต้นพื้นฐานใหม่ แต่ละขั้นตอนจนเกิดความจำระยะสั้นให้ได้ก่อน การแก้ไขใหม่ ๆ อาจจะตีกอล์ฟไม่ได้ดีเท่าเดิม ถ้ามีความตั้งใจ อดทนฝึกจนมีวงที่ถูกต้องแล้วผลจะดีขึ้นมาก เช่น นิดฟัลโด ในการแก้ไขวงสวิง กว่าจะกลับมาดีได้ถึงจุดสูงสุดใช้เวลา 2 ปี  7. เมื่อฝึกวงสวิงได้ดี ก็ต้องหมั่นตรวจสอบวงสวิง และฝึกสม่ำเสมอ เพราะจะมีการ เปลี่ยนแปลงของวงสวิงได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพของร่างกายและจิตใจด้วย 8. เมื่อท่านนักกอล์ฟฝึกจนถึงขั้น Reflexive memory หรือ Muscle memory การ เล่นกอล์ฟต้องฝึกวางแผน เกมการเล่น ว่าจะเลือกไม้อะไร ตีวางลูกตำแหน่งไหน จะตีลักษณะอย่างไรลูกลอยโด่ง ลูกพุ่งต่ำ หรือเลี้ยว หลังจากนั้นก็จะใช้ Muscle memory บังคับลูก ไปตามที่วางแผน ไม่ต้องคิดถึงที่วงสวิง หรือเกร็งมากเกินไป ห้ามนึกถึงสกอร์เด็ดขาด เพราะจะทำให้ Muscle memory เสียไป ซึ่งถ้าท่านฝึกทุกครั้งในการเล็ง การจรดไม้แบบเดิมทุกครั้งที่เรียกการทำ Routine ก็จะทำให้ท่านไม่ต้องนึกถึงวงสวิง และผลออกมาจะแน่นอนกว่า การคิดถึงวงสวิงซึ่งอาจจะตีผิดพลาดได้ จากนิตยสารสมาร์ทกอล์ฟ 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<