ภาวะรังไข่หยุดการทำงาน ก่อนวัยอันควร

รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร เป็นกลุ่มอาการที่รังไข่หยุดทำงานก่อนอายุ 40 ปี โดยจะมีอาการซึ่งประกอบด้วย การขาดระดู  การมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ในระดับต่ำ และมีฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (gonadotropin) อยู่ในระดับที่พบในสตรีวัยหมดระดู

พบภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร ประมาณ 1% ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 40 ปี, 0.1% ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 30 ปี และ 0.01% ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 20 ปี

สาเหตุของภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร

  1. สาเหตุจากความผิดปกติของโครโมโซม และพันธุกรรม  ประมาณ 20-30% ของสตรีเป็นภาวะนี้ จะมีญาติเป็นด้วย  สาเหตุตามพันธุกรรมที่พบบ่อยสุดของภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร คือ Turner syndrome ซึ่งจะมีการพัฒนาของรังไข่เป็นปกติ ขณะเป็นทารกในครรภ์ แต่จะมีการฝ่อของฟองไข่อย่างรวดเร็ว ทำให้หยุดทำงานเร็วกว่าคนทั่วไป (ตั้งแต่เป็นเด็ก)
  2. สาเหตุจากการมีภูมิต้านทานของตนเอง  เช่น โรคภูมิต้านทานตนเองของต่อมไทรอยด์ (autoimmune thyroid disorder) SLE   เบาหวาน  พบได้ประมาณ 10-30%  ภาวะนี้บางรายสามารถกลับมาปกติได้
  3. สาเหตุรังไข่หยุดทำงานภายหลังการผ่าตัด  การผ่าตัดบริเวณรังไข่หลายครั้ง อาจทำให้จำนวนฟองไข่ลดลงจากการตัดเนื้อรังไข่เอง หรือ การอุดตันเส้นเลือดฝอยรอบ ๆ ที่มาเลี้ยงรังไข่ หรือ การอักเสบบริเวณดังกล่าว ก็สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้
  4. รังสีรักษา, เคมีบำบัด การใช้รังสีรักษา เป็นสาเหตุของภาวะ POF ได้ โดยผลของรังสีขึ้นกับขนาดของรังสีที่ได้รับ  อายุผู้ป่วย  บริเวณที่ได้รับรังสี การให้ยาเคมีบำบัด ก็มีผลต่อ การทำงานของรังไข่ โดยขึ้นกับชนิดของยา, ขนาดของยาที่ได้รับ และอายุของผู้ป่วย
  5. ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม  ได้แก่ การสูบบุหรี่ จะมีผลทำให้การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง และยังเป็นพิษต่อเซลล์ต้นกำเนิดของรังไข่ด้วย  ยาฆ่าแมลง, สารละลาย และโลหะหนักบางชนิด ก็ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด POF
  6. การติดเชื้อ  เช่น  คางทูม, วัณโรค, มาเลเรีย  พบว่ามีรายงานการเกิดภาวะรังไข่ หยุดทำงานก่อนวัยอันควรได้
  7. ไม่ทราบสาเหตุ

อาการ

จะมีอาการขาดระดู และมีอาการของวัยหมดระดูในบางราย เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากตอนกลางคืน เมื่อยล้า  อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น

การรักษา

  1. การให้ความช่วยเหลือให้กำลังใจและคำปรึกษา (Emotional support and counseling) ผู้ป่วยภาวะนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับจิตใจสูง เสียความมั่นใจตนเอง และจะมีผลต่ออารมณ์ทางเพศ และการดำเนินชีวิต และจะมีผลในแง่การเสียโอกาสในการมีบุตร ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ซึมเศร้า และหดหู่มากขึ้น ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือให้กำลังใจ จึงมีความสำคัญมาก
  2. การให้ฮอร์โมนทดแทน  ในสตรีที่อายุน้อย จำเป็นต้องให้ฮอร์โมนทดแทน เพื่อช่วยเหลือเรื่องของอาการวัยทอง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ  ภาวะกระดูกพรุน  ระยะเวลาการให้ จะให้จนถึงอายุเฉลี่ยของสตรีที่หมดระดูตามปกติ ในบางรายที่มีปัญหาเรื่องการไม่มีความต้องการทางเพศ อาจจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเพศชาย Testosterone ด้วย
  3. การรักษาเกี่ยวกับปัญหาการมีบุตร  ผู้ป่วยภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร  จะมีประมาณ 5-10%  สามารถตั้งครรภ์ได้ด้วยการใช้ยา

กระตุ้นไข่ ด้วยสเตียรอยด์ ร่วมกับ โกนาโดโทรปิน (gonadotropin)  และบางรายยังสามารถตั้งครรภ์ได้ จากการตกไข่เองซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในบางครั้ง

ถ้าไม่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นไข่  อาจใช้ไข่บริจาคเป็นทางเลือกในการช่วยมีบุตร

โดย  นพ.ชัยสึก  จิวะธนะพร   และ ทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและ ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช  โรงพยาบาลวิภาวดี

<