อาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน

อาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน

อาการเวียนศีรษะ / บ้านหมุน ที่มีสาเหตุมาจากโรคของสมอง อาจนำไปสู่ความพิการ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม ซึ่งในทางการแพทย์จะแบ่งอาการนี้ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

  • อาการมึนเวียนศีรษะ (dizziness) มีความหมายรวมตั้งแต่อาการมึนศีรษะไปจนถึงอาการวิงเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการไม่เฉพาะเจาะจง เกิดได้จากโรคต่างๆ เช่น โรคทางระบบไหลเวียนเลือด โรคทางระบบประสาท ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
  • อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (vertigo) จะหมายถึงเฉพาะอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุนหรือโคลงเคลงเท่านั้น

อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (vertigo) เป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่คอยรับการทรงตัวสมดุลของร่างกายในท่าทางต่างๆ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นจึงทำให้มีอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมหมุนรอบตัวเองหรือตัวเองหมุน รู้สึกโคลงเคลงทั้งๆ ที่ตัวเองอยู่กับที่หรือไม่มีการเคลื่อนไหว ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีความรู้สึกเหมือนจะเป็นลม หูอื้อ การได้ยินลดลง หรือมีเสียงในหูร่วมด้วยได้

อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนมีสาเหตุที่ซับซ้อน การวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องจึงมีความสำคัญ การรักษาในระยะแรกจะได้ผลดีกว่าในระยะหลัง ดังนั้น หากมีอาการเวียนศีรษะผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการและเข้ารับการรักษา โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ทั้งการตรวจหู ตรวจระบบประสาทและการทรงตัว ตรวจการทำงานของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ตรวจดูการกลอกของลูกตาและการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่างๆ ในผู้ป่วยบางรายที่แพทย์สงสัยว่ามีความผิดปกติของการทำงานในหูชั้นในอาจได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น

  • ตรวจการได้ยิน (audiogram)
  • ตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน (videoelectronystagmography: VNG)
  • ตรวจวัดแรงดันของน้ำไนหูชั้นใน (electrocochleography: ECOG)
  • ตรวจการทรงตัว (posturography)
  • ตรวจการทำงานของเส้นประสาทการได้ยิน (evoke response audiometry) เป็นต้น

สำหรับการรักษา แพทย์จะพิจารณารักษาตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ซึ่งแนวทางการรักษาจะแตกต่างกันไป โดยแพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

อย่างไรก็ดี การดูแลตนเองและพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นก็ยังคงมีความสำคัญต่อการรักษาและการป้องกันการเกิดโรค ในผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะในระหว่างเกิดอาการ เช่น การหมุนหันศีรษะเร็วๆ การเปลี่ยนแปลงท่าทางอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้มเงยคอหรือหันอย่างเต็มที่
  • ลดปริมาณหรืองดการสูบบุหรี่/ดื่มกาแฟ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ และการพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับขี่ยานพาหนะในขณะยังมีอาการ การปีนป่ายที่สูง
  • ภาวะความเครียด การพักผ่อนน้อย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมีคาแฟอีนเป็นส่วนประกอบ การรับประทานอาหารเค็มจัด เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้

 

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7-%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99

เจิมวรพิพัฒน์ศ. (2016). พยาบาลกับปัญหาที่ถูกมองข้าม: อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน. JOURNAL OF HEALTH SCIENCE RESEARCH, 10(2), 72-81. Retrieved from https://he01.tci-thaijo.org/index.php/JHR/article/view/73971

https://tcm.dtam.moph.go.th/images/files/vertigo.pdf