การบาดเจ็บข้อเข่า

การบาดเจ็บข้อเข่า

โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี
การบาดเจ็บข้อเข่า


           ในปี 2004 มีคำถามจากผู้ที่อยู่ในวงการกอล์ฟว่า เกิดอะไรขึ้นกับ ไทเกอร์ วู้ดส์ ผู้ซึ่งชนะ จาก 1999 – 2002 ในเมเจอร์มาแล้ว 7 ครั้ง และเป็น 4 ครั้งติดต่อกันซึ่งเรียกว่า Tiger Slam แต่ ไม่สามารถชนะในการแข่งขันอีกเลยเป็นเวลา 1 ปี
ไทเกอร์ วู้ดส์ ได้เปลี่ยนโค้ชจาก Butch Hamon เมื่อต้นปี 2003 และปรับวงสวิงภายใต้โค้ชคนใหม่ Hank Haney ผู้คนสงสัยกันมากมายว่าไทเกอร์ วู้ดส์ จะมีโอกาสกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกหรือไม่ รวมทั้ง Butch Hamon ด้วย
เหตุผลที่สำคัญอันหนึ่งที่ไทเกอร์ วู้ดส์ ได้ปรับวงสวิงใหม่ เนื่องจากวงสวิงเดิมทำให้มีการปวดเจ็บที่เข่าซ้ายและหลังสิ้นสุดการแข่งขันปี 2002ไทเกอร์ วู้ดส์ ได้รับการผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic surgery) พบว่ามีน้ำในข้อเข่าและมีการฉีกขาด ยืดออกของเอ็นไขว้หน้า (anterior crudite legaunt) เอ็นไขว้หน้ามีหน้าที่สำคัญที่จะรักษาไม่ให้กระดูกข้อเข่าเลื่อนออกจากกันไปในแนวหน้า - หลังและรักษาความมั่นคงของเข่าในการเคลื่อนไหวและเล่นกีฬา
ไทเกอร์ วู้ดส์ เขียนในหนังสือ How I play golf เมื่อต้องการเพิ่มระยะอีก 20 หลา จะใช้วิธีสะบัดขาซ้ายให้เหยียดตรง (Snap his left leg straight) แต่การเคลื่อนไหวใช้พลังโดยการหมุนสะโพกให้เร็วและหมุนขาซ้ายขณะที่งอเข่ารับน้ำหนัก และเหยียดตรงทันทีในขณะทำดาวน์สวิง ทำให้เกิดแรงบิดข้อเข่าซ้ายอย่างมาก ในปี 2002 ไทเกอร์ วู้ดส์ ให้สัมภาษณ์ Golf Digest magazine ว่ามีอาการเจ็บข้อเข่า ต้องกินยาแก้ปวดก่อนการเล่น และเวลาทำดาวน์สวิงควรพยายามเลี่ยงไม่ให้มีแรงกดบนข้อเข่ามากเกิน
เรามารู้จักเรื่องกายวิภาคของข้อเข่า ความมั่นคงของข้อเข่าและการบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่าให้แข็งแรงและยืดเหยียดได้ดี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ 

กายวิภาคของข้อเข่า
          ข้อเข่า ประกอบด้วย กระดูกฟีเมอร์ (Femur) กระดูกทิเบีย (Tibia) กระดูกสะบ้าด้านหน้าข้อเข่า (Patella) บริเวณที่กระดูกทั้ง 3 ชิ้น สัมผัสกันจะมีผิวข้อซึ่งเป็นกระดูกอ่อน (Articular cartilage) คลุมอยู่และภายในข้อคลุมด้วยเยื่อบุข้อ (Synovial membrane) 

         ระหว่างผิวข้อกระดูกฟีเมอร์ และกระดูกทิเบีย มีหมอนรองข้อเข่ารูปร่างคล้ายตัว C รองอยู่ทั้งด้านนอกและด้านใน ซึ่งทำหน้าที่ช่วยลดแรงกระแทรกบนผิวข้อเข่า และช่วยเสริมความแข็งแรงของข้อเข่า และช่วยให้น้ำหล่อลื่นข้อเข่าไปเคลือบผิวข้อได้ดีขึ้น


         ความมั่นคงของข้อเข่าขึ้นอยู่กับกระดูกฟีเมอร์และกระดูกทิเบีย ที่ประกอบเป็นข้อเข่าที่ยังมีลักษณะปกติไม่แตกไม่ทรุด หมอนรองกระดูกข้อเข่าและเอ็นที่ยึดข้อเข่า รวมทั้งกล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ ข้อเข่า 
กล้ามเนื้อที่สำคัญ คือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าที่ทำหน้าที่เหยียดข้อเข่า เรียก Quadriceps muscles และกล้ามเนื้อที่อยู่ต้นขาด้านหลัง เรียก Hamstring muscles ถ้าส่วนต่าง ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งเสียไป หรือทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติก็จะเสียความมั่นคงของข้อเข่า

ความมั่นคงของข้อเข่า จากเอ็นใหญ่ 4 เส้น
1. เอ็นเข่าด้านนอก (Lateral collateral ligament)
2. เอ็นเข่าด้านใน (Medial collateral ligament)
3. เอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament)
4. เอ็นไขว้หลัง (Posterior cruciate ligament) 



 เอ็นเข่าด้านนอก, ด้านใน ช่วยป้องกันไม่ให้เข่าหลวม เอียงไปด้านข้าง
 เอ็นไขว้หน้า ป้องกันไม่ให้เข่าหลวม เลื่อนไปด้านหน้า
 เอ็นไขว้หลัง ป้องกันไม่ให้เข่าหลวม เลื่อนตกไปด้านหลัง


             ภยันตรายที่เข่าบิดอย่างรุนแรงหรือภาวะที่ทำให้เข่าเคลื่อนมากกว่าปกติ เช่น ล้ม เสียหลัก ถูกกระแทรก เข่าเหยียดจนแอ่นไปทางด้านหลังหรือด้านข้างมากเกินไป จะทำให้เอ็นใหญ่ที่ยึดข้อเข่าฉีกขาดได้ อาจจะมีการฉีกขาดเพียงอันเดียวหรือหลายอัน หรือมีการบาดเจ็บร่วมกับผิวข้อแตก, หมอนรองข้อเข่าฉีกขาดร่วมด้วยก็ได้

ความรุนแรงของการฉีกขาดของเอ็น แบ่งได้เป็น 3 ระดับ
ระดับที่ 1 มีการฉีกขาดภายในเนื้อเยื่อของเอ็น แต่เอ็นยังไม่ยึดหรือขาดให้เห็นชัดเจน
ระดับที่ 2 เอ็นฉีกขาดบางส่วน
ระดับที่ 3 เอ็นฉีกขาดแยกออกจากกันทั้งหมด

อาการและการตรวจพบ
             โดยทั่วไปการบาดเจ็บข้อเข่าจากการเล่นกอล์ฟมักไม่ค่อยรุนแรง นอกจากจะมีการเสียหลักล้มเช่น ยืนตีในบริเวณพื้นที่ต่างระดับ มักพบมีการบาดเจ็บบริเวณเข่าซ้ายในนักกอล์ฟที่ตีด้วยมือขวา เพราะจะมีแรงบิดและรับน้ำหนักบนเข่าซ้ายค่อนข้างมาก
การบาดเจ็บที่รุนแรงจะพบได้บ่อยมากในกีฬาฟุตบอล, รักบี้, เทนนิส อาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ เช่น 
 ปวดบวมบริเวณข้อเข่า
 กดเจ็บบริเวณที่เอ็นฉีก, บริเวณแนวข้อ ซึ่งเป็นตำแหน่งของหมอนรองข้อเข่า
 เดินลงน้ำหนักไม่ได้หรือเดินแล้วปวดเสียวมากผิดปกติ
 การงอเหยียดเข่าไม่ได้ เข่าติดในท่าใดท่าหนึ่ง ซึ่งอาจจะเกิดหมอนรองข้อเข่าขาดไปขวางในข้อ
 รู้สึกเข่าบวมหรือเกผิดรูป อาจเกิดจากเอ็นใหญ่ขาดหรือกระดูกแตก

การตรวจพบทางด้านการแพทย์
1. ตรวจน้ำหรือเลือดออกในข้อเข่า ซึ่งจะพบภายในข้อเข่าบวมมาก
2. ตรวจความมั่นคงด้านข้างข้อเข่า
3. ตรวจความมั่นคงในแนวหน้า – หลังของข้อเข่า
4. ตรวจการเคลื่อนไหว, หมุนเข่า เพื่อดูว่าหมอนรองข้อเข่าขาดหรือไม่



รูปที่ 3 การตรวจความมั่นคงในแนวหน้า – หลังของข้อเข่า ในท่านอนหงายงอเข่า 90 องศา 
ถ้าดึงกระดูกใต้เข่าเลื่อนมาข้างหน้าได้แสดงถึงเอ็นไขว้หน้าขาด  ถ้ากดกระดูกใต้เข่าเลื่อนลงไปข้างหลังได้ แสดงถึงเอ็นไขว้หลังขาด

เอ๊กซเรย์ข้อเข่า
      เพื่อดูว่ามีลักษณะกระดูกหัก ข้อเคลื่อนหรือไม่

การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic surgery)
            เป็นการตรวจภายในข้อเข่า จะได้การตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องชัดเจน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการฉีดยาเข้าในเยื่อหุ้มไขสันหลังเพื่อให้ส่วนล่างของร่างกายชา ผู้ป่วยสามารถรับการผ่าตัดรักษาได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ ใช้แผ่นรัดห้ามเลือดบริเวณต้นขา เพื่อที่ไม่ให้เลือดออกมากระหว่างการผ่าตัดรักษา

            เจาะรูบริเวณด้านหน้าเข่าชิดกับเอ็นลูกสะบ้า ใส่ท่อโลหะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 มิลลิลิตร ซึ่งมีเลนส์และท่อนำแสงส่อเข้าไปในข้อเข่าสามารถเห็นส่วนต่าง ๆ ภายในข้อเข่า โดยต่อภาพเข้ากับจอทีวีได้ ซึ่งจะเห็นส่วนต่าง ๆ ภายในข้อเข่า จะเป็นภาพขยายจากของจริงประมาณ 5 ถึง 10 เท่า สามารถจะอัดเป็นภาพวีดีโอ เพื่อมาดูภายหลังการผ่าตัดได้



รูปที่ 4 การผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อตรวจดูความผิดปกติในข้อเข่า 
              ในการตรวจโดยวิธีส่องกล้อง จะเห็นพยาธิสภาพต่าง ๆ ในข้อเข่า เช่น ผิวข้อซึ่งเป็นกระดูกอ่อน, เอ็นไขว้หน้า, เอ็นไขว้หลัง, หมอนรองข้อเข่า, เยื่อบุข้อ เพื่อพบพยาธิสภาพหรือการผิดปกติก็สามารถผ่าตัดแก้ไขได้ เช่น การทำผิวข้อให้เรียบ การเอาส่วนของหมอนรองข้อเข่าขวาออกรวมทั้งการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้า, เอ็นไขว้หลังได้



การรักษาหลังผ่าตัด
             ผู้ป่วยจะได้รับการพันเข่าด้วยสำลีหนา ๆ แล้วรัดด้วยผ่ายืดให้แน่นเพื่อไม่ให้บวมประมาณ 3 – 4 วันหลังจากนั้น ให้ผู้ป่วยเริ่มบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่าได้

การบริหารกล้ามเนื้อ, การทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด
1. หลังจากแผลหายดี ผู้ป่วยเริ่มบริหารกล้ามเนื้อเหยียดหัวเข่าได้
2. เริ่มบริหารโดยไม่รับน้ำหนักที่เข่า เช่น การวายน้ำ, การขี่จักรยาน
3. การบริหารกล้ามเนื้อโดยใช้น้ำหนัก (Weight training)

การบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Quadriceps)
ยืนเกาะกำแพงหรือโต๊ะ งอเข่าตึง เท้าไปด้านหลังให้รู้สึกตึงต้นขาด้านหนาให้มากที่สุดนาน 5 – 7 วินาที ทำซ้ำ 6 – 10 ครั้งทำทั้ง 2 ข้าง 



การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Hamstrings)
          ฝึกงอเข่าข้างหนึ่ง เหยียดขาอีกข้างหนึ่ง โน้นตัวไปข้างหลังและข้างหน้ารู้สึกตึงด้านหลังต้นขาข้างที่เหยียด นาน 5 – 7 วินาที ทำซ้ำ 6 – 10 ครั้งทำทั้ง 2 ข้าง



การบริหารให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
กล้ามเนื้อ Quadriceps 
นั่งเก้าอี้สูง งอเข่า ห้อยเท้า เหยียดเข่า ต้านกับแรงต้าน อาจจะใช้ถุงทราย, ยางยืด



กล้ามเนื้อ Hamstrings 
นอนคว่ำ งอเข่า สู้กับแรงต้าน อาจใช้น้ำหนักมัดไว้กับข้อเท้า หรือแรงต้านจากยางยืด



ข้อแนะนำสำหรับท่านนักกอล์ฟ
• ควรออกกำลังกายเป็นการอุ่นเครื่องให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่น และข้อเคลื่อนไหวคล่องตัวก่อนการเล่นกอล์ฟ
• เริ่มออกกำลงกายอย่างช้า ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
• ไม่ควรออกกำลังกายจนเกินขีดความสามารถ หรือเกิดอาการบาดเจ็บ
• ควรออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ
• การเล่นกอล์ฟควรเล่นในขอบเขตความสามารถของตัวเอง โดยคำนึงถึงเวลา (time) จังหวะ (tempo) และความสมดุล (balance) เป็นหลัก ซึ่งจะลดการบาดเจ็บของร่างกายได้มาก
• ถ้าท่านมีการบาดเจ็บในข้อเข่า ทำให้เดิน เคลื่อนไหวได้ไม่ปกติ ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง
 

<