การตัดสินใจหย่าร้าง

การตัดสินใจหย่าร้าง

  นพ.วีรวุฒิ  เอกกมลกุล จิตแพทย์รพ.วิภาวดี

“ ตอนนี้เครียดมาก หย่าหรือไม่หย่าดีค่ะ ตัดสินใจไม่ถูก ”
“สามีมีตบตีหนูบ่อย ๆ อยากหย่าแต่ก็สงสารลูก ตัดสินใจอย่างไรดีค่ะ”
“คนรอบข้างคัดค้าน  ไม่ให้หย่าทำให้เคียดมากเลย หนูสับสนมาก ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไรดีค่ะ”

          มีคำถามมากมายเมื่อคนเราต้องประสบกับการตัดสินใจหย่าร้าง  การหย่าร้างพบมากขึ้นปัจจุบัน      โดยอัตราการหย่าร้างได้สูงขึ้นมากในขณะที่อัตราการแต่งงานกลับลดต่ำลง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในประเทศต่างๆ หลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย การหย่าร้างจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเนื่องจากเป็นวิกฤตกาลในชีวิตที่อาจ นำมาซึ่งโศกนาฏกรรม ความเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัวหรือบางทีก็อาจแก้วิกฤตเป็นเป็นโอกาสในดารพัฒนาชีวิตลาจิตวิญญาณตามหลักศาสนา ดังนั้นก่อนตัดสินใจหย่าควรพิจารณาตนเองก่อนว่าตนเป็นคนประเภทใดจาก 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

       กลุ่มดั้งเดิม คนกลุ่มนี้ถูกโปรแกรมหรือได้รับการอบรมเลี้ยงดูเฉกเช่นคนไทยในอดีตที่ภรรยายังต้องพึงพาสามีทางเศรษฐกิจ สังคมไทยในอดีตนั้นชายใดที่มีความสามารถในอาชีพการงานและการเงิน  หรือเป็นผู้มากด้วยบารมีก็อาจมีภรรยาได้หลายคน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปสังคมไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะเรื่องผัวเดียวเมียเดียว แต่ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันก็ยังยอมรับสภาพสามีมีภรรยาน้อย  สามีสามารถเลี้ยงดูทุกคนอย่างดีและจัดการให้ผู้หญิงแต่ละคนอยู่ในอาณาจักรของตนโดยไม่ระรานกันผู้หญิงกลุ่มนี้มักจะยอมรับชะตากรรมที่สามีจะหยิบยื่นให้กับตน

     กลุ่มสมัยใหม่   คนกลุ่มนี้ถูกโปรแกรมหรือรับค่านิยมสมัยใหม่ที่เป็นสากล ทั้งชายและหญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินชะตาชีวิตของตน ในกรณีที่สามียังเป็นคนกลุ่มดั้งเดิมเลือกที่จะมีภรรยาเพิ่มขึ้นมา ผู้หญิงกลุ่มสมัยใหม่ก็พร้อมที่จะหย่าร้างตามแบบวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังวิกฤตกาลที่สร้างความเจ็บปวดเกินกว่าที่จะทนต่อไปได้ ผู้หญิงกลุ่มนี้มักมีการงานและรายได้ทีดี

    กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่สับสน ไม่แน่ใจว่าตนเป็นแบบกลุ่มใด มีลักษณะปะปนกันของ 2 กลุ่มแรก คนกลุ่มนี้จะสับสนจนทำให้เครียดและอาจก่อให้เกิดปัญหาลูกโซ่อื่นๆ ตามมาเมื่อได้รู้ถึงตัวตนว่าเป็นคนกลุ่มใด ก็จะช่วยให้ตัดสินใจถูกต้องตรงกับความต้องการของตนเองได้มากขึ้น การหย่าร้างไม่ควรตัดสินใจด้วยอารมณ์ ประชดหรือเอาชนะกันแต่ควรตัดสินใจตามหลักเหตุผลที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีหรือผลเสียน้อยที่สุด โดยที่ทั้งสามีและภรรยาได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วว่าการหย่าจะช่วยให้เขามีความสุขในชีวิตมากกว่าที่จะทนอยู่ด้วยกันต่อไป บางรายอาจแยกกันอยู่ก่อนหย่าร้างเพื่อให้แน่ใจว่าตัดสินใจถูกต้องแล้ว

           ไม่ว่าคุณจะตัดสินหย่าหรือไม่หย่า หลักศาสนา จิตวิทยา และนิติศาสตร์เป็นเรื่องที่ควรพิจารณา เพื่อทำให้สามารถผ่านพ้นสภาพปัญหาได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะก่อให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์มากกว่าผลเสียต่อทุกฝ่าย ตัวอย่างเช่น บางรายทะเลาะกันและทำร้ายตบตีกันต่อหน้าลูกเป็นประจำ เมื่อตกลงตัดสินใจหย่าร้างโดยไม่ยึดมั่นในความคิดเดิม ๆ     ที่ฝังใจว่าผู้หญิงคนอื่นต้องออกไปจากชีวิตของสามีและทุกคนต้องได้รับความเจ็บปวดโดยทั่วกัน การคิดตามหลักการปล่อยวางโดยไม่ยึดมั่น ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีจากการหย่าทำให้ลูกๆ ต่างโล่งใจเนื่องจากแม่จะได้ปลอดภัยจากการทุบตี    สำหรับตัวอย่างของผู้หญิงหลายๆ รายที่ตัดสินใจไม่หย่า ตั้งใจทำดีกับสามีและครอบครัวเป็นอย่างดีโดยไม่ได้เก็บกดความโกรธแค้นไว้แผดเผาใจตนและเข้าใจสามีที่พ่ายแพ้ต่ออำนาจของกิเลส หลักศาสนาช่วยปรับโลกทัศน์ให้มองโลกในแง่ดีทำให้มีความสุขกับการให้หรือทำความดี และปฏิบัติหน้าที่สำคัญในครอบครัวต่อไปคนที่อยู่ในกลุ่มสับสนมักพบกับความยากลำบากในการหย่าร้างมากกว่ากลุ่มอื่นๆ หลายรายอยากหย่าแต่กลับต้องเผชิญกับความเห็นที่ขัดขว้างอย่างมากมายจากญาติมิตรหรือคนใกล้ชิดบางรายเครียดจนป่วยโดยเฉพาะโรคซึมเศร้าผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องรักษากับจิตแพทย์เพื่อรับยาที่สามารถปรับระดับสารเคมีในสมองให้ทำงานปกติ ไม่เช่นนั้นผู้ป่วยอาจฆ่าตัวตายได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ควรรีบตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตโดยเฉพาะเรื่องหย่าควรรักษาจนอาการโรคซึมเศร้าทุเลา อีกทั้งควรเข้าใจในความปรารถนาที่ดีของคนรอบตัวที่อยากเห็นสามีภรรยาอยู่ด้วยกันต่อไปอย่างมีความสุขและควรอดทนต่อกัน ซึ่งเป็นไปตามค่านิยมของเขาเหล่านั้นเอง 
ทั้งนี้เขาอาจไม่เข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดของคู่สามีภรรยา เรื่องการหย่าจำเป็นต้องพิจารณาข้อดีและข้อเสียอย่างรอบด้านแล้วทั้งคู่จึงตกลงใจร่วมกัน เรื่องการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนหย่าโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยกว่าหรือผู้ที่ไม่มีรายได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางแผนและจัดการหายรายได้เพื่อเตรียมพร้อมก่อนหย่าเพื่อบรรเทาปัญหาการเงิน หลังการหย่าร้าง  นอกจากนั้นทั้งคู่ต้องมีการเตรียมตัวเรื่องลูก เด็กควรรับรู้ว่าหย่าเป็นการตกลงระหว่างพ่อกับแม่เท่านั้นเพื่อไม่ให้เด็กเข้าใจผิดว่าตนเป็นสาเหตุหลังหย่าร้างเขายังคงมีพ่อและแม่ที่รักเขาดังเดิมพ่อแม่
           ควรพูดคุยกับลูกเพื่อลดปฏิกิริยาต่อการสูญเสียของเด็ก  ตอบข้อซักถามของเด็กอย่างชัดเจนและเหมาะสมกับอายุและสติปัญญาของเด็กไม่ควรโทษพ่อหรือแม่ของเด็กและควรให้ความรัก ความอบอุ่น อีกทั้งให้มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเด็กน้อยที่สุดที่ทำได้
    
     ด้วยความปรารถนาดี จากรพ.วิภาวดี

<