ทำไม ‘ผู้หญิง’ ถึงขาด ‘ธาตุเหล็ก’ ได้บ่อย ๆ ?

เนื่องจากผู้หญิงมีประจำเดือนมาทุกๆเดือน การที่เราเสียเลือดก็ทำให้เราเสียธาตุเหล็กไปด้วย หากรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ เช่น ทานเนื้อสัตว์น้อย ก็จะทำให้เราขาดธาตุเหล็กได้

ธาตุเหล็ก

เหล็กเป็นแร่ธาตุที่พบมากในร่างกายที่เม็ดเลือดแดง และ เซลล์กล้ามเนื้อ มีหน้าที่ในการขนส่งก๊าซออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ มีส่วนสำคัญในการทำปฏิกิริยาของเอนไซม์ต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงการสร้างคอลลาเจน และ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

 

หากขาดธาตุเหล็ก จะส่งผลอย่างไรบ้าง ?

ผลกระทบที่พบได้บ่อยหากขาดธาตุเหล็กก็คือทำให้เกิดเลือดจางได้ โดยอาจทำให้เกิดอาการซีด มือเท้าเย็น ชายิบๆที่ปลายมือปลายเท้า อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมหมดสติ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น

 

ใครเสี่ยงขาดธาตุเหล็กบ้าง ?

  • ผู้หญิงวัยที่มีประจำเดือน หากรับประทานธาตุเหล็กไม่เพียงพออาจทำให้ขาดธาตุเหล็กได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประจำเดือนมามาก อาจทำให้ขาดธาตุเหล็กจนโลหิตจางได้
  • มีริดสีดวงทวาร ที่มีเลือดออกมาก
  • กินมังสวิรัติ วีแกน กินเนื้อสัตว์น้อย หรือ ไม่ค่อยกินเนื้อแดง เช่น หมู วัว เนื่องจากสัตว์เนื้อขาว เช่น ปลา ไก่ มีธาตุเหล็กน้อยกว่าสัตว์เนื้อแดง
  • หลังการบริจาคโลหิต
  • ผู้ที่ดื่มกาแฟ ชาเขียว ชาดำ ไวน์แดงเป็นประจำ เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารโพลีฟีนอล (Polyphenol) สูงซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ แต่มีฤทธิ์ต้านการดูดซึมธาตุเหล็ก
  • คนที่กินวิตามินแร่ธาตุเสริม เช่น แคลเซียม สังกะสี เนื่องจากอาจแย่งการดูดซึมกับธาตุเหล็ก
  • มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร หรือลำไส้เล็ก เนื่องจากเป็นบริเวณที่ดูดซึมธาตุเหล็ก

เราสามารถตรวจปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายได้อย่างไร ?

เราสามารถตรวจธาตุเหล็กได้จากการตรวจระดับสาร Ferritin ในเลือด ซึ่งเป็นโปรตีนที่จับกับธาตุเหล็กเพื่อดูธาตุเหล็กในรูปที่เก็บสะสมอยู่ในร่างกายว่ามีเพียงพอหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การที่เรามีธาตุเหล็กสะสมในร่างกายมากเกินไปก็ส่งผลเสียได้เช่นกัน โดยอาจไปสะสมที่อวัยวะต่างๆ ทำให้การทำงานของอวัยวะนั้นๆผิดปกติไป

 

เราจะแก้ไขภาวะขาดธาตุเหล็กได้อย่างไร ?

 

  1. ทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ได้แก่
  • เลือด ตับ เนื้อสัตว์ต่างๆโดยเฉพาะเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ธาตุเหล็กในอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์นี้จะอยู่ในรูป heme iron ซึ่งร่างกายเราดูดซึมได้ดีกว่า
  • ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ธัญพืช และถั่วต่างๆ อย่างไรก็ตามธาตุเหล็กในพืชผักจะอยู่ในรูป non-heme iron ซึ่งร่างกายเราดูดซึมได้ยากกว่าจากอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์
  1. ทานอาหารที่มีวิตามินซีร่วมกับอาหารที่มีธาตุเหล็ก เนื่องจากวิตามินซีช่วยเพิ่มอัตราการดูดซึมธาตุเหล็กได้
  2. หลีกเลี่ยงทานอาหารเหล่านี้เป็นประจำ เนื่องจากมีสารต้านการดูดซึมธาตุเหล็ก
  • อาหารที่มีสารโพลีฟีนอลสูง เช่น กาแฟ ชาเขียว ชาดำ ไวน์แดง
  • อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม
  1. ทานธาตุเหล็กเสริม หากตรวจพบว่าขาดธาตุเหล็ก สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อทานธาตุเหล็กเสริม และ ตรวจติดตาม เนื่องจากหากธาตุเหล็กมากเกินไปก็มีผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกันนะคะ
<