โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และการตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score)

           โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary artery disease) หมายถึง ภาวะที่หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (coronary artery) ตีบ                                                                                                                                                  โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ  อาจเกิดจากไขมันหรือหินปูนสะสมในผนังหลอดเลือด  ทำให้บริเวณหลอดเลือดมีการตีบแคบลง ส่งผลให้เลือดนำออกซิเจนไหลผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยและไม่เพียงพอ จนอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งสังเกตได้จากการที่มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจวายซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง           การตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score) การตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ เป็นการตรวจปริมาณแคลเซียมที่เกาะผนังของหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และคำนวณหาปริมาณแคลเซียมที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดแดง โดยสามารถบอกถึงปริมาณหินปูนที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ แม้จะมีปริมาณน้อยก็ตาม การตรวจ Calcium Score  เป็นการตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (CAD) ในผู้ที่ยังไม่มีอาการ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่รวดเร็ว ไม่เจ็บ ไม่ต้องฉีดสี ใช้ปริมาณรังสีต่ำ   ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่มีโรคไขมันในเลือดสูง ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน มีประวัติสูบบุหรี่ ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ผู้ที่มีอายุ มากกว่า 55 ปี สตรีวัยหมดประจำเดือน การแปลความหมายของแคลเซียม   คะแนนแคลเซียม ความเสี่ยง                          โอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 0 ความเสี่ยงต่ำมาก โอกาสเกิดภาวะหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในระดับสูงในอนาคตมีน้อย 1-100 ความเสี่ยงต่ำ โอกาสในการพัฒนาภาวะหลอดเลือดหัวใจนั้นไม่น่าเป็นไปได้หรือต่ำมาก  101-400 ความเสี่ยงปานกลางถึงสูง ความเสี่ยงปานกลางถึงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีการอุดตันในระดับสูง  >400 ความเสี่ยงระดับสูง ความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในระดับสูง ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ตาม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เชื่อหรือไม่ว่า... กาแฟทำให้อายุยืนขึ้น?

เป็นเวลาหลายร้อยปี การแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยม 2-3 อันดับต้นๆ แต่กาแฟ มีผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร เราเพิ่งมารู้กันในระยะหลัง เมื่อมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ได้มีการศึกษาระบาดวิทยาขนาดใหญ่จากสถาบัน NIH ของอเมริกา โดยได้วิเคราะห์ข้อมูลทางสุขภาพจากอาสาสมัครจำนวน 400,000 คน อายุ ในช่วง 50-70 ปี เป็นผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคใดๆ  ณ จุดเริ่มต้นของการศึกษาในปี 1995 แต่เมื่อถึงปี 2008 ประชากรกลุ่มดังกล่าว จำนวน 50,000 คน ได้เสียชีวิต เป็นที่น่าแปลกใจว่าผู้ชายที่ได้ดื่มกาแฟปริมาณ 2-3 แก้วในแต่ละวัน มีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม10% ในกรณีของผู้หญิงที่ดื่มกาแฟในปริมาณเท่ากัน อัตราการเสียชีวิตยิ่งน้อยไปอีกกล่าวคือ 13% เรายังไม่แน่ใจว่ากาแฟส่งผลกระทบอย่างไรกันแน่กับภาวะอายุยืน แต่ความสัมพันธ์นี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง การวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับกาแฟ เมื่อเร็วๆ นี้พบความเชื่อมโยงของการดื่มกาแฟปริมาณปานกลาง คือ 4 แก้วต่อวัน (แก้วละ 150 cc.) บังเกิดผลดีต่อสุขภาพอย่างชัดเจน กล่างวคือช่วยลดความเสี่ยงเบาหวานชนิดที่ 2, มะเร็งผิวหนัง, มะเร็งต่อมลูกหมาก และการเกิดมะเร็งเต้านมซ้ำ (หลังการรักษาแล้ว) นอกจากนี้ยังพบประเด็นสำคัญจากการศึกษากาแฟในสัตว์ทดลอง คือกาแฟสามารถปรับสภาวะชีวิเครมีภายในสมองที่สามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ ในปี 2012 ที่มหาวิทยาลัย illinois ได้ทำการวิจัย โดยการทดลองนำเอาหนูมาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม หนูทุกตัวถูกทำให้เกิดสภาวะขาดออกซิเจนในสมองในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ส่งผลให้สมองหนูเหล่านั้นไม่สามารถสร้างความจำใหม่ได้ แล้วให้หนูอีกกลุ่มได้รับกาแฟปริมาณเทียบเท่ากันมนุษย์ที่ดื่มกาแฟปริมาณปานกลาง ส่วนอีกกลุ่มไม่ได้รับกาแฟ จากนั้นให้หนูทุกตัวกลับมารับออกซิเจน  พบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับกาแฟสามารถสร้างความจำใหม่ได้เร็วกว่า 33% เทียบกับหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับกาแฟ และเมื่อตรวจละเอียดที่สมอง พบว่าสารคาเฟอีนไปขัดขวางฤทธิ์ของสาร adenosine ซึ่งเป็นสารชีวะเคมีภาวยในเซบล็ที่ปกติแล้วสารนี้จะเป็นตัวให้พลังงานแก่เซลล์ แต่เมื่อสารนี้รั่วจากเซลล์ที่ได้รับอันตราย หรือขาดออกซิเจน สารนี้จะไปจุดติดกระบวนการชีวะเคมี และนำสู่ภาะการอักเสบ แล้วในที่สุดจะไปขัดขวางการทำหน้าที่ของเซลล์สมอง และมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการเสื่อมของสมอง หรือภาวะสมองเสื่อมนั่นเอง ในปี 2012 ได้มีการศึกษากาแฟในมนุษย์ โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลับ South Florida และมหาวิทยาลับ Miami ได้ตรวจสอบระดับคาเฟอีนในผู้ใหญ่เป็นโรคความจำเสื่อมในระยะเริ่มแรก และได้ประเมินซ้ำอีก พบว่ากลุ่มคนที่ในเลือดไม่มีสารคาเฟอีนเกิดภาวะสมองเสื่อมเต็มรูปแบบมากกว่ากลุ่มคนที่มีสารคาเฟอีนในเลือด เรายังมีเรื่องต้องศึกษาเกี่ยวกับกาแฟอีกมาก  "เราไม่แน่ใจว่าลำพังการต้านฤทธิ์ของสาร Adenosine ตัวเดียว เพียงพอที่จะป้องกันหรือบรรเท่าสมองเสื่อมได้" เป็นคำกล่าวของคุณ Gregory (ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย illinois) ในปี 2011 การศึกษามหาวิทยาลัย Southern Florid ใช้หนูที่ตัดต่อพันธุ์กรรมทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม Alzheimer เหมือนที่เกิดในคน เมื่อให้หนูเหล่านั้นมารับสารคาเฟอีนอย่างเดียวกลับไม่มีผลดี ป้องกันสมองเสื่อมได้ดีเท่ากับให้หนูที่กินกาแฟ ส่วนกาแฟที่ผสมน้ำตาลมากๆ (เหมือนในกาแฟชูกำลัง) ก็พบว่าไม่ช่วยป้องกันสมองเสื่อมได้ดีแต่อย่างได้ ฉะนั้นที่เราดื่มกาแฟวันละ 1-3 แก้ว ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีที่อาจหวังผลป้องกัน ภาวะสมองเสื่อมได้ โดย นพ.กิตติ ตระกูลรัตนาวงศ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ (แปลจากหนังสือพิมพ์ New York Time "This is your brain on coffee" 6 June 2013)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

จะออกกำลังกายอย่างไรดี ?

จะออกกำลังกายอย่างไรดี ? นพ.วรงค์  ลาภานันต์   กองอายุรกรรม รพ.ภูมิพล และแพทย์ที่ปรึกษา รพ.วิภาวดี                 ถ้าลองถามแพทย์แต่ละคนอาจได้คำตอบแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะแนะนำกันคือ ออกกำลังหนักพอประมาณอย่างต่อเนื่องครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 4 ครั้ง อย่างน้อย  โดยทั่วไปเชื่อว่าคนที่ชอบออกกำลังจะไม่ค่อยเป็นโรคหัวใจ ด้วยเหตุผลง่ายๆคือ ก็เพราะหัวใจเขาผู้นั้นน่าจะแข็งแรงกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย                    แต่เหตุผลที่ลึกไปกว่านั้น ก็คือการออกกำลังกายจะช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ลดความดันโลหิตซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจลง ยังช่วยเพิ่มระดับของไขมันดี   HDL ด้วย และที่น่าทึ่งคือการออกกำลัง จะกระตุ้นให้มีการสร้างเซลใหม่ เพื่อทดแทนเซลที่เสื่อมสภาพโดยเฉพาะที่หัวใจ                 ทีนี้ ก็มักจะเกิดปัญหากับคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลัง อาจเนื่องจากไม่มีเวลาหรือสถานที่ไม่อำนวย     ก็ลองมาฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคและสมาคมเวชศาสตร์การกีฬาของสหรัฐอเมริกาดูบ้าง  เขาแนะนำว่า การออกกำลังหนักปานกลางซึ่งก็คือ การทำกิจวัตรประจำวัน อาทิ การล้างรถ ถูบ้าน ประมาณ 1 ชั่วโมง   หรือการทำสวนประมาณ   45   นาที อาทิตย์ละ 3-4 วัน ก็มีผลดีต่อหัวใจ และที่น่าสนใจไปกว่านั้นอีกคือ ไม่จำเป็นจะต้องทำงานรวดเดียว อาจทำๆ หยุดๆ ก็ได้  อย่างนี้ก็จะได้เลิกคิดกันเสียทีว่า ไม่มีเวลาออกกำลัง ดังนั้นการเดิน เดิน และเดิน น่าจะเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกอายุ ส่วนที่ไม่ค่อยจะดีก็คือ การออกกำลังประเภทที่ต้องมีการเกร็งของกล้ามเนื้อ เช่น การยกน้ำหนักเป็นต้น  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

บุหรี่กับสุขภาพ

โดย นพ.วรงค์ ลาภานันต์                                       กองอายุรกรรมรพ.ภูมิพล และแพทย์ที่ปรึกษา รพ.วิภาวดี แม้จะมีคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ติดไว้บนซองบุหรี่ อาทิ บุหรี่ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ถุงลมโป่งพอง อัมพาต เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ  โรคที่เกิดจากบุหรี่ ก็ยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่แต่ละปี ต้องสูญเสียเงินมหาศาลเพื่อเยียวยา ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1990 พบว่าในจำนวนผู้ที่เสียชีวิตทุก 5 คน 1 คนในจำนวนนั้นเกิดจากบุหรี่ สังคมอเมริกันเอง มีการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่กันอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลว่า เมื่อปี ค.ศ. 1965 คนอเมริกันสูบบุหรี่กันถึง 40 % แต่เมื่อปี ค.ศ. 1995 ปริมาณลดลงเหลือ 24.7 % บริษัทจำหน่ายบุหรี่รายใหญ่ของอเมริกาเห็นว่า แนวโน้มถ้าจะแย่แถมยังถูกอเมริกันฟ้องร้องว่า เป็นตัวการให้รัฐต้องเสียเงินเพื่อบำบัดเยียวยาโรคที่มีสาเหตุเกิดจากบุหรี่ปีๆ หนึ่ง เป็นพันๆล้านดอลลาร์ บริษัทผู้ผลิตจึงพยายามหาทางออก คือ เอาบุหรี่อเมริกันไปขายให้คนชาติอื่น ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนให้คนชาติอื่น หันมานิยมผ่อนส่งความตายกันเพิ่มมากขึ้น เพื่อโฆษณานี้ปีๆ หนึ่งหลายร้อยล้านดอลลาร์ทีเดียว คนที่มีรสนิยม และพอจะมีทุนทรัพย์ก็พยายามหามาเพื่อบริโภค ถึงรัฐบาลขึ้นภาษีสรรพสามิตเท่าใดก็ไม่พ้นบุหรี่หนีภาษีอยู่ดี ไม่ว่าจะบุหรี่ไทยหรือบุหรี่นอก ขึ้นชื่อว่าควันบุหรี่แล้วก็น่ากลัวพอกัน เพราะมีสารต่างๆถึง 4,700 ชนิด มีทั้งที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบสารพัด แต่ที่สำคัญก็คือ สารนิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ สารไฮโดรคาร์บอน  นิโคติน เมื่อถูกสูดเข้าในถุงลมปอดจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะมีฤทธิ์คล้ายสารประสาทมีชื่อ Adrenaline ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ สารคาร์บอนมอนนอคไซด์ ซึ่งจับกับโมเลกุลของฮีโมโกบิน ทำให้เม็ดเลือดไม่สามารถนำออกซิเจนได้ จึงก่อให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในระดับเซล ในควันบุหรี่มีสารที่ทำลายเซลเยื่อบุผนังหลอดเลือด (Endothelium) ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว หดตัว ทำให้ระดับ HDL ลดลง กระตุ้นการแข็งตัวของเม็ดเลือดทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตันได้โดยง่าย บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งกว่า 10 ชนิด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งของทางเดินหายใจและช่องปาก มะเร็งของกระเพาะอาหาร ตับอ่อน เป็นต้น เพราะมีสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) อยู่เกือบ 50 ชนิด บุหรี่กระตุ้นให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง เปรียบเหมือนทำให้ฟองน้ำซึ่งมีช่องอากาศเล็กๆ ถูกทำลาย ทำให้กลายเป็นรวงผึ้งใหญ่ๆ พื้นผิวของการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ถุงลมลดลง ลงท้ายออกซิเจนในอากาศไม่เพียงพอ ต้องนอนกอดถังออกซิเจนไปตลอด ขยับตัวออกกำลังเล็กน้อยก็เหนื่อย วันร้ายคืนร้ายก็เกิดปอดอักเสบหรือปอดแตกไปเลยก็มี สำหรับคุณผู้หญิงที่คิดจะมีลูกควรฟังตรงนี้ให้ดี จากการศึกษาพบว่า ทารกที่เกิดจากมารดาที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ไม่เพียงแต่ จะเป็นเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อแรกคลอดเท่านั้น พบว่าเมื่อโตขึ้นไป เด็กผู้ชายจะมีโอกาสเป็นเด็กที่มีนิสัยก้าวร้าวชอบลักขโมยมากกว่าเด็กทั่วไปถึง 4 เท่า เช่นกันในเด็กเพศหญิง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อกันคือ สารนิโคตินในบุหรี่ อาจกระทบกระเทือนกับการพัฒนาการของสมองของทารกในครรภ์ มารดาที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่ต้องอยู่กับบิดาที่ชอบสูบบุหรี่ในห้องนอน ในบ้าน ก็ไม่น่าจะปลอดภัยเช่นกัน มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ 90% เริ่มสูบก่อนอายุ 20 ปี ก็ควรเป็นข้อเตือนใจที่ดีในการรณรงค์ป้องกันโทษภัยของบุหรี่กันให้เข้มข้นตั้งแต่วัยเด็ก จะได้ไม่ต้องมากลายเป็นผู้ใหญ่ที่ติดบุหรี่ในอนาคต และที่สำคัญจากการวิจัยพบว่า ยาเสพติดทุกประเภทไม่ว่า กัญชา ยาบ้า เฮโรอีน ฯลฯ ล้วนมีจุดเริ่มต้นที่บุหรี่ทั้งสิ้น คนที่ติดบุหรี่แล้วก็อย่าพึ่งเสียอกเสียใจ ถ้าคิดอยากจะเลิกลองมาฟังการศึกษานี้ดู เขาพบว่าถ้าหยุดบุหรี่วันนี้อัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจะลดลงถึง 50 % ภายในระยะเวลา 1-2 ปี แต่ถ้าจะให้อัตราเสี่ยงเท่าปกติเลย จะต้องใช้เวลานานกว่านั้น คือ ประมาณ 10-15 ปี ทีเดียว เอาเถอะ ถึงจะนานเท่าใดก็คุ้มค่า เพราะไม่เฉพาะแต่โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ถุงลมโป่งพอง ฯลฯ ก็จะพลอยเบาลงไปด้วยจะได้มีชีวิตอยู่ดูโลกอย่างสดใส ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บที่ป้องกันได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หัวใจวิภาวดี โทร.0-2561-1111 ต่อ 1322  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคหัวใจวาย (Heart Failure) 💔 คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง? เช็คอาการ สาเหตุ & วิธีป้องกัน

หัวใจวายคืออะไร? หัวใจวาย หมายถึง ภาวะซึ่งหัวใจไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างพอเพียง หัวใจวาย ไม่ใช่หัวใจหยุดเต้น เราเรียกหัวใจวายว่า Congestive Heart Failure คือหัวใจทำงานล้มเหลวทำให้เนื้อเยื่อต่างๆขาดออกซิเจน หากหัวใจห้องซ้ายวายก็จะมีการคั่งของน้ำที่ปอดทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าน้ำท่วมปอด Pulmonary Edema หากหัวใจห้องขวาวายจะเกิดการคั่งของน้ำที่ขาทำให้บวมที่เท้า โดยที่อาการหัวใจวายอาจจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่นเกิดภายหลังจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออาจจะค่อยๆเกิดเช่นโรคของลิ้นหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจ สาเหตุของหัวใจวาย เมื่ออายุมากขึ้นการบีบตัวของหัวใจก็จะลดลง หากมีภาวะที่ทำให้หัวใจทำงานมากขึ้นหรือมีการสูญเสียความสามารถในการบีบตัวของหัวใจก็จะเกิดโรคหัวใจวาย นอกจากนั้นยังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเช่น การสูบบุหรี่ อ้วน การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การขาดการออกกำลังกาย เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดโรคหัวใจวายได้ หัวใจวายมีด้วยกันหลายสาเหตุ บางครั้งอาจจะไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด สาเหตุที่พบได้บ่อยได้แก่ หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ (Coronary Heart Disease) ผู้ป่วยมักจะมีประวัติเจ็บแน่นหน้าอกมาก่อน เมื่อเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอกล้ามเนื้อหัวใจก็ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบตันอย่างเฉียบพลันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายไป หากบริเวณที่ตายกินบริเวณกว้างก็อาจจะเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน  โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสบางชนิด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเกิดหัวใจวาย  ความดันโลหิตสูง (Hypertension)เมื่อความดันโลหิตสูงขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหนาตัวและต้องทำงานมากขึ้น เกิดหัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจ เช่น โรคหัวใจ รูมาติก Rheumatic Heart Disease ทำให้ลิ้นหัวใจตีบ หรือรั่วโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด  โรคปอด เช่นโรคถุงลมโป่งพอง ก็สามารถทำให้หัวใจห้องขวาวาย  หัวใจเต้นผิดปกติ อาจเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นช้าเกินไป (Bradyarrhythmia) หรือเต้นเร็วเกินไป (Tachyarrhythmia) ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างเพียงพอ  สารพิษ เช่น สุรา หรือยาเสพติด ซึ่งทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น  ไทรอยด์เป็นพิษ  อาการของโรคหัวใจวาย ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเล็กน้อยจึงไม่ได้ใส่ใจ มีจำนวนไม่น้อยที่มาพบแพทย์เมื่ออาการหนักมาก ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจวายควรที่จะรู้ว่ามีอาการอะไรบ้างและควรที่จะติดตามอาการเหล่านั้น หากอาการแย่ลงต้องรีบปรึกษาแพทย์อาการต่างๆที่พบได้ คือ เหนื่อยง่าย หากโรคหัวใจเป็นไม่มากจะเหนื่อยเฉพาะเวลาทำงานหนัก (Dyspnea on Exertion) ถ้าโรคหัวใจเป็นมากขึ้นความรุนแรงของอาการเหนื่อยจะมากขึ้น งานปกติที่เคยทำได้ก็จะเหนื่อย แม้แต่เวลาพักก็ยังรู้สึกเหนื่อย หากอาการเหนื่อยเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงต้องปรึกษาแพทย์  นอนแล้วจะมีอาการเหนื่อย หลังจากนอนไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง ทำให้ต้องลุกขึ้นมานั่งอาการถึงจะดีขึ้น บางรายนอนราบไม่ได้เลย Orthopnea  อ่อนเพลียง่าย  เท้าบวม หรือท้องมาน เนื่องจากมีการคั่งของน้ำ น้ำหนักเพิ่มอย่างเร็ว  ไอเรื้อรังโดยเฉพาะหากเสมหะมีสีแดงหรือชมพู ปนออกมาต้องรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นอาการของน้ำท่วมปอด  มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากระบบย่อยอาหารได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง  ความจำเสื่อม มีการสับสน  ใจสั่นหัวใจเต้นเร็ว  การรักษา โรคหัวใจวาย เป็นโรคที่มีการทำลายกล้ามเนื้อหัวใจอย่างต่อเนื่อง จนเกิดอาการของหัวใจวาย ผู้ป่วยจำเป็นต้องร่วมมือในการรักษาโดยมี หลักการรักษา ดังนี้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  การใช้ยารักษา  การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่นการทำ Ballon หลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจ  การใส่เครื่องมือเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ  การป้องกัน การป้องกันก่อนการเกิดโรค เรียก Primary Prevention เป็นวิธีการที่ดีที่สุด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารมีคุณภาพหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารรสเค็มจัด ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เครียด งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุราในปริมาณที่จำกัด  รักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่น การรักษาโรคความดันโลหิต การรักษาโรคเบาหวาน ไขมัน หลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ  ตรวจร่างกายประจำปีก่อนการเกิดโรคหัวใจ  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี โทร. 0-2561-1111 กด 1

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เกลือ เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงอย่างไร

เกลือ เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงอย่างไร            จากการสัมภาษณ์นพ.บรรหาร  กออนันตกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจ ที่ปรึกษาศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี ในเรื่อง "เกลือ  เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงอย่างไร" ในรายการ Happy & Healthy ทางสถานีวิทยุ ขสทบ. FM 102 9.30 – 10.00 น.เมื่อวันเสาร์ ที่ 23 พค.52  เราได้ถอดคำสัมภาษณ์ออกมาเป็นความรู้สุขภาพ ให้ทุกท่านได้อ่านกัน เพราะเห็นว่ามีประโยชน์มากค่ะ อ่านได้เลยค่ะ   เกลือเกินกับความดันโลหิตสูง  พล อ. ต. นพ.บรรหาร  กออนันตกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจ ที่ปรึกษาศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี Happy&Healthy เสาร์ 23 พค.52 FM 102 9.00 – 10.00 น.   DJ: เกลือมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงอย่างไร ?             อาจารย์บรรหาร: ก่อนอื่นก็คงจะต้องทราบถึงคุณลักษณะของเกลือว่ามี สีขาว รสเค็ม เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ละลายในน้ำแตกตัวเป็นโลหะโซเดียมสีเงินเป็นประจุบวกกับคลอรีนที่เป็นแก๊สพิษสีเขียวเป็นประจุลบ เกลือก็คือการรวมของธาตุทั้ง  2 นี้ แล้วตกผลึก เกลือเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตและมีความสำคัญมากมายกว่าที่คิดในการนำไปใช้ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ด้วยปริมาณถึง  300  ล้านตันต่อปี  เช่น นำมาทำสบู่  ยาย้อมสี  ฟอกหนังสัตว์หรือฟอกกระดาษ     เก็บรักษาอาหาร  อุปกรณ์ทำความเย็น ละลายหิมะตามถนนเป็นต้น ร่างกายของคนเรานอกจากประกอบไปด้วยน้ำเป็นส่วนมาก ถึงประมาณ  60%  ส่วนประกอบที่สำคัญรองจากน้ำก็คือเกลือที่มีปริมาณมากถึง15%ของร่างกายเพราะว่าโซเดียมมีหน้าที่ควบคุมอัตราการถ่ายเทของน้ำในเซลล์แล้วยังมีบทบาทสำคัญในการสื่อสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเซลล์ประสาทควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อแล้วยังช่วยเผาผลาญโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตในร่างกายด้วย  ดังนั้นเกลือจึงมีความสำคัญในการดำรงชีวิต  และถ้าขาดเกลือก็จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อจะเสื่อมลง  คนปกติต้องการเกลือประมาณวันละ  400  มิลลิกรัมหมุนเวียนชดเชยเกลือในร่างกายผ่านทางหลอดเลือด  แต่ถ้าบริโภคเกลือเกินความต้องการก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หรือถ้ามีความดันโลหิตสูงอยู่แล้วก็ต้องลดปริมาณของเกลือให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ    DJ :  ความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นได้อย่างไร ?            อาจารย์บรรหาร : ความดันโลหิตหรือแรงดันเลือด เป็นองค์ประกอบทำให้ระบบไหลเวียนของหัวใจและหลอดเลือดดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง  การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจทำให้เกิดแรงดันให้ปริมาณเลือดจำนวนหนึ่งที่อยู่ในหัวใจด้านซ้ายล่างให้เคลื่อนไปตามหลอดเลือดแดงใหญ่ต่อจากนั้นก็จะต้องมีแรงดันเลือดให้เคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องด้วยคุณสมบัติพิเศษของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่สามารถยืดหยุ่นหลอดเลือดแดงในช่วงที่กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว  ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่จะพองออกเพื่อรองรับปริมาณเลือดที่มาจากแรงหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่วนในช่วงกล้ามเนื้อหัวใจคลายตัวกล้ามเนื้อของหลอดเลือดแดงใหญ่ก็หดกลับสู่สภาพเดิมทำให้เกิดแรงดันส่งต่อเลือดให้เคลื่อนไปตามหลอดเลือดแดงที่เล็กลงในทุกส่วนของร่างกายไปเลี้ยงเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายด้วยอ๊อกซิเจนที่มาจากเม็ดเลือดแดง เพราะอ๊อกซิเจนเป็นสิ่งที่เซลล์ต่าง ๆ ขาดไม่ได้ ถ้าเซลล์ต่าง ๆ ขาดอ๊อกซิเจนก็จะทำให้สูญเสียอวัยวะจนถึงชีวิตได้    ค่าปกติของความดันโลหิตในช่วงที่หัวใจบีบตัว/คลายตัว เหมาะสมที่สุดอยู่ที่  120/80  มิลลิเมตรปรอท การวินิจฉัยความดันโลหิตสูง  ต้องวัดความดันโลหิตถ้าความดันโลหิตเท่ากับหรือสูงกว่า   140/90  มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปก็จะเข้าเกณฑ์ความดันโลหิตสูง    สาเหตุของความดันโลหิตสูง  แบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือ   ความดันโลหิตสูงที่ทราบสาเหตุ อันเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะ  เช่น ไต  ต่อมหมวกไต หรือจากระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น  อีกประเภทหนึ่ง คือความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุอย่างแท้จริง  ซึ่งมีอยู่ประมาณ  90%  และมักจะเกิดร่วมกับปัจจัยเสี่ยงและสิ่งแวดล้อม  ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง  คือ  เกลือ  ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสารสีขาวแต่จะรวมไปถึงของที่มีรสเค็มทั้งหมด  ในทุกสภาพ  เช่น  เนื้อเค็ม  ปลาเค็ม  น้ำปลา   ซีอิ้ว และน้ำจิ้มต่าง ๆ ที่มีเกลือผสมอยู่  ปัจจุบันนี้พบโรคอ้วนที่ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลีน เป็นผลให้เกิดความดันโลหิตสูงและเบาหวานได้อีกด้วย  และถ้ารวมการสูบบุหรี่และไขมันผิดปกติก็จะ กลุ่ม ปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด DJ: โรคความดันโลหิตสูงอันตรายอย่างไร             อาจารย์บรรหาร: ความดันโลหิตสูง ซึ่งเมื่อก่อนนี้เราเชื่อกันว่าเป็นเพียงสภาวะของระบบไหลเวียน แต่ในปัจจุบันนี้ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าเป็นโรคชนิดหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลของพันธุกรรมแต่ที่แตกต่างไปจากโรคอื่นก็คือ โรค ความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์กับทุกอวัยวะในร่างกายที่ต้องการอ๊อกซิเจน จึงเป็นโรคที่เกิดได้ทุกที่ จึงเรียกว่า โรคแทรกซ้อน เช่น  กรณีหลอดเลือดแดงตีบตันหรือหลอดเลือดแดงส่วนปลายแตกที่สมองก็จะเกิดเป็นอัมพฤตอัมพาต หรือถ้าหลอดเลือดแดงของหัวใจในตีบตันก็จะทำให้เกิดหัวใจวายแบบเฉียบพลัน  เช่นเดียวกัน ถ้าไปเกิดที่หลอดเลือดแดงของไตก็ทำให้ไตวาย หรือถ้าหลอดเลือดแดงส่วนปลายบริเวณขาและเท้าก็จะสูญเสียอวัยวะส่วนนั้นไป โดยทั่วไปอาการความดันโลหิตสูงมักจะเริ่มต้นจากไม่มีอาการอะไรเลย  หรือค่อย ๆ มีอาการ  มึน  ปวดศีรษะ   สมาธิลดลง  หรือหงุดหงิดง่าย  เครียด  และถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะลุกลามไปจนถึงเกิดโรคแทรกซ้อนดังที่กล่าวมาแล้ว  นับว่าเป็นการศูนย์เสียชีวิตหรือคุณภาพชีวิตก่อนวัยอันควร  ทั้ง ๆ ที่ความดันโลหิตสูงนั้นรักษาและป้องกันได้  โดยจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมงดและลดปัจจัยเสี่ยงหลัก ที่ได้กล่าวมาแล้ว  เพิ่มการออกกำลังกายและเรื่องการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะด้วยการรู้จักเลือกชนิดของอาหารที่มีโคอเรสเตอรอลต่ำ  และลดอาหารที่มีกรดไขมันชนิดอิ่มตัว  หรือของทอด ส่วนในปริมาณอาหารที่รับประทาน(แคลลอรี่)ต้องไม่มากเกินไปให้พอเพียงกับพลังงานที่ต้องใช้ต่อวันจะไม่ทำให้อ้วน   ทั้งนี้จำเป็นที่จะต้องควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์  โดยการใช้หลักง่าย ๆ ส่วนสูงเป็นเซ็นติเมตร  ลบด้วยหนึ่งร้อย ก็จะเป็นน้ำหนักที่ไม่ควรจะเกินของเพศชาย    ส่วนของเพศหญิงให้ลดลงอีก 10%   หลักการที่ถูกต้องของการออกกำลังกายคือ 1. ต้องออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องไม่หยุดพักให้ได้เป็นเวลา  30  นาทีขึ้นไป  2. จะต้องออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันหรืออย่างน้อย สัปดาห์ละ  4  วัน  3. การออกกำลังกายมี  2  รูปแบบ  เรียกว่า แบบแอโรบิก  ที่เน้นการเคลื่อนไหวอวัยวะทุกส่วนอย่างต่อเนื่อง  ที่เพิ่มระดับแรงออกกำลังกายไปจนถึงระดับความแรงคงตัว ( Steady state)  ส่วนการออกกำลังกายอีกแบบหนึ่งซึ่งจะต้องมีการสร้างพลังด้วยเกร็งกล้ามเนื้อให้เกิดพลังมารองรับการออกกำลัง เช่น  การยกน้ำหนัก  มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งประกอบไปด้วยข้อทั้งหมด  34  ข้อ  เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานทุกรูปแบบและได้ประโยชน์ในการเคลื่อนไหว เกิดความคล่องตัวที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน  ฉะนั้นการดูแลข้อกระดูกทั้งหลายนี้ไม่ให้เกิดโรคข้อเสื่อม ต้องปฏิบัติด้วยการออกกำลังกายเท่านั้น เพื่อหล่อเลี้ยงและฝึกฝนให้ข้อต่อเคลื่อนไหวอย่างไม่มีอุปสรรคจะทำให้ดำรงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตในปั่นปลาย  สุดท้ายนี้ : ความสำคัญของเกลือ พบว่าถ้าสามารถลดการบริโภคเกลือลงได้ครึ่งหนึ่ง จะช่วยลดการเสียชีวิตจากอัมพาตและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทั่วโลกได้ประมาณ 2.5 ล้านคนต่อปี  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเลือกรับประทานอาหารรวมทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และโปรดอย่าลืมงดสูบบหรี่ก็จะทำให้ท่านปลอดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกทั้งยังเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ยืนยาว “เกลือคือส่วนหนึ่งของชีวิต ฉะนั้นถ้าท่านดูแลการบริโภคเกลือชีวิตก็จะสดใส”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาวะหัวใจโตเป็นอย่างไร การตรวจวินิจฉัยและการรักษามีแนวทางใดบ้าง

ภาวะหัวใจโตเป็นอย่างไร การตรวจวินิจฉัยและการรักษามีแนวทางใดบ้าง   ภาวะหัวใจโต น.พ.เสมชัย เพาะบุญ  อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี   ขนาดหัวใจที่โตกว่าปกตินั้น อาจแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ โตจากกล้ามเนื้อที่หนาตัวกว่าปกติ ลองนึกภาพคนเล่นกล้าม นักเพาะกาย กล้ามเนื้อใหญ่ขึ้น เพราะทำงานหนัก กล้ามเนื้อหัวใจก็เช่นกัน หากต้องทำงานหนัก บีบตัวมากๆ เช่น ในกรณีความดันโลหิตสูง หรือ ลิ้นหัวใจตีบ ก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนา ขึ้นได้ อีกประการหนึ่งคือขนาดของหัวใจโตขึ้น เพราะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี มีเลือดคั่งค้างในห้องหัวใจมากคล้ายลูกโป่งใส่น้ำ ทำให้ขนาดโตขึ้น        มีหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจที่เป็นดาราประจำก็ คือ ความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย เบาหวาน เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่หนากว่าปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุอีกด้วย         ภาวะหัวใจโตไม่จำเป็นต้องมีอาการผิดปกติใดๆ หากจะมีอาการ ก็จะเป็นอาการเนื่องจากโรคที่เป็นต้นเหตุ และอาการจาก หัวใจล้มเหลว เช่น เหนื่อยง่าย หอบ แน่นหน้าอก เป็นต้น การตรวจร่างกายจะบอกได้หากหัวใจมีขนาดโตมาก แต่โดยทั่วไปแล้ว การตรวจร่างกายจะมุ่งหาสาเหตุของหัวใจโต มากกว่าที่จะบอกขนาดของหัวใจ การตรวจที่จำเป็นคือ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ เอกซเรย์ทรวงอก (ปอดและหัวใจ) หากกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมาก หรือ เคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อน จะแสดง ให้เห็น จากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจที่มีความไวต่ำ หมายความว่า แม้คลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ ก็มิได้หมายความว่าหัวใจไม่โต หรือ ไม่มีโรคหัวใจขาดเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจบอกว่าโต แต่จริงๆแล้วไม่โตก็ได้ เอกซเรย์ ทรวงอกบอกขนาดหัวใจได้ดีพอสมควร แต่ก็ผิดพลาดได้ง่าย เพราะขึ้นอยู่กับเทคนิค ระยะห่างระหว่างหัวใจกับฟิล์ม การหายใจ เป็นต้น บ่อยครั้งที่ดูว่าหัวใจโตจากเอกซเรย์ แต่จริงๆแล้วขนาดหัวใจปกติ ไม่โตเลย ในทางกลับกัน เอกซเรย์บอกว่าปกติแต่ความจริงมีกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมาก ก็เป็นได้ ต้องเข้าใจว่า การตรวจเหล่านี้ ล้วนมีข้อจำกัดทั้งสิ้น บ่อยครั้งที่แพทย์สั่งตรวจพิเศษเหล่านี้หลายๆอย่าง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในการให้ความเห็นและรักษา    การตรวจวินิจฉัย        ไม่มีวิธีไหนดีที่สุด โดยไม่มีข้อจำกัดในการตรวจเลย วิธีดูขนาดหัวใจที่ยอมรับกันว่าดีมากในปัจจุบัน คือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือ Echocardiography เครื่องมือจะส่งคลื่นเสียง ความถี่สูง ทะลุผ่านอวัยวะต่างๆที่จะตรวจเมื่อผ่านส่วนต่างๆคลื่นเสียงเหล่านี้จะสะท้อนกลับ ความสามารถในการสะท้อนกลับขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้อเยื่อที่มันผ่าน เช่น เลือด กระดูก กล้ามเนื้อ เหล่านี้ให้สัญญาณการสะท้อนกลับแตกต่างกัน คอมพิวเตอร์จะบันทึกสัญญาณสะท้อนกลับเหล่านี้ นำมาสร้างภาพขึ้นเห็นเป็นอวัยวะที่แพทย์กำลังตรวจอยู่ ดังนั้นหากตรวจที่หัวใจ ก็จะเห็นห้องหัวใจ ซึ่งวัดขนาดได้ว่าโตหรือไม่ เห็นการทำงานของลิ้นหัวใจ เห็นกล้ามเนื้อหัวใจ และ ความสามารถในการบีบตัวว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงให้รายละเอียดได้มากกว่าการตรวจอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจชนิดนี้ไม่เห็น หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และเห็นภาพไม่ชัดนักในผู้ป่วยที่อ้วนหรือมีโรคปอด (ยกเว้นการตรวจโดยผ่านหลอดอาหาร) ผู้ที่ควรได้รับการตรวจ           ผู้ที่มีอาการของหัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือตรวจร่างกายพบระบบการทำงานหัวใจผิดปกติ ควรได้รับการตรวจนี้ เพื่อดูความสามารถ ในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนั้นแล้วผู้ที่เอกซเรย์พบว่า หัวใจโตกว่าปกติบางราย ควรดูให้แน่ใจว่า โตจริงไหม ทั้งนี้แล้วแต่แพทย์โรคหัวใจ จะพิจารณาเป็นรายๆ ในผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด เช่น เบาหวาน หากพบว่า หัวใจโตจากเอกซเรย์ก็ควรตรวจละเอียดเช่นกัน เนื่องจาก ภาวะหัวใจโตไม่จำเป็นต้องมีอาการ การรักษา          การรักษาภาวะหัวใจโต คือการรักษาตามสาเหตุ เช่น รักษาความดันโลหิตสูง ผ่าตัดลิ้นหัวใจ หรือรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น แม้ว่าการรักษาอาจ ไม่ได้ลดขนาดหัวใจลงให้เห็นได้ชัดเจนจากเอกซเรย์ในบางราย แต่การรักษาจะช่วยป้องกันไม่ให้โตขึ้นเรื่อยๆได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่   ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี โทร.0-2561-1111 กด 1

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ออกกำลังกายอย่างไร ให้เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย

ออกกำลังกายอย่างไร ให้เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย            ลองอ่านเรื่อง ที่ลงในวารสาร NYT ต้นเดือนตุลาคม 2009 แปลและเรียบเรียง โดย นพ.กิตติ ตระกูลรัตนาวงศ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ รพ.วิภาวดีค่ะ แล้วคุณจะมีกำลังใจ ออกกำลังกายมากขึ้น ออกกำลังกายอย่างไร ให้เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ลงใน NYT ต้นเดือนตุลาคม 2009   มีงานวิจัยเกิดขึ้น 2 ชิ้นเร็ว ๆ นี้ งานวิจัยชิ้นแรก           ตีพิมพ์เมื่อปีก่อนในวารสารวิชาการ ทำการทดลอง โดยนักวิจัย แบ่งหนู ออกเป็น  2  กลุ่ม หนูกลุ่มแรก                เป็นหนูที่ไม่ต้องให้ออกกำลังกาย หนูกลุ่มที่ 2                 ให้เดินสายพานจนเหนื่อยหมดแรง ใช้เวลา 3 วัน จากนั้น ให้หนู ทั้ง 2 กลุ่ม รับเชื้อไข้หวัด  ภายในเวลา 2-3 วัน  หนูกลุ่มออกกำลังกายเป็นหวัดมากกว่า หนูกลุ่มแรกที่ไม่ได้ออกกำลังกาย    และอาการของหนูกลุ่มออกกำลังกาย  ก็เป็นหนักซะด้วย งานวิจัยชิ้นที่ 2 ตีพิมพ์ลงในวารสารเกี่ยวกับ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย อิลลินอยส์  นำหนูทดลองมารับเชื้อไข้หวัด ที่เป็นเชื้อรุนแรงโดยก่อนรับเชื้อ แบ่งหนูออกเป็น 3 กลุ่ม   หนูกลุ่มที่ 1                 ให้พัก  หนูกลุ่มที่ 2                 ให้ออกกำลังกายสบาย ๆ วิ่งเบา ๆ 20-30 นาที    หนูกลุ่มที่ 3                 วิ่ง 2 ชม.ครึ่ง ให้เหนื่อยสุด ๆ  หนูทุกกลุ่ม                 ทำแบบเดียวกันทุกวันเป็นเวลา 3 วัน  เมื่อหนูติดไข้หวัด   พบว่า หนูกลุ่มที่ 1                 ตาย มากกว่า ครึ่ง หนูกลุ่มที่ 2                 ตาย 12% หนูกลุ่มที่ 3                 ตาย 70%  และที่รอดก็มีอาการไข้หวัดรุนแรงกว่ากลุ่มแรก             จากงานวิจัยที่ผ่านมา ทั้ง 2 งานวิจัย ดังกล่าว ยิ่งเสริมความรู้ความเข้าใจว่า การออกกำลังกายและภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความสัมพันธ์ เป็น  “ Sharped carve” คือ การออกกำลังกายปานกลางไม่มากเกินไป สามารถเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้  แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าออกกำลังกายมากเกินไป  ภูมิคุ้มกันกลับลดลงติดโรคได้ง่าย และอาการของโรคมักรุนแรงกว่า   อย่างไรจึงเรียกว่า ออกกำลังกายมากเกินไป             แม้ว่าจะยังไม่มีคำนิยามที่ตรงกันในกลุ่มนักวิจัย แต่การออกกำลังกายที่มากเกินไป มักหมายถึง การออกกำลังกายเป็นเวลานาน > 1 ชม. ชีพจรและอัตราการหายใจเร็วมาก จนคุณรู้สึกว่าคุณเหนื่อยมากจริง ๆ เช่น วิ่งมาราธอน , แข่งขันเตะฟุตบอล 90 นาที เป็นต้น             ทำไมการออกกำลังกายหนัก ๆ ทำให้ติดเชื้อง่ายนั้น ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันดี แต่เชื่อว่า หลังการออกกำลังกายหนัก ๆ สิ้นสุดลง ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกยับยั้งไว้ ยิ่งออกกำลังกายหนักมาก ๆ และใช้เวลานานมากเท่าไร  ยิ่งมีผลทำให้ ระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันถูกยับยั้ง  มากขึ้นเท่านั้น  บางครั้งรอนาน 2-3 ชม. หรือถึง 2-3 วัน             มีการวิจัยใหม่ ๆ ชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในเดือน สค. 2009 ในวารสารวิชาการ Journal of strength and conditioning research เพื่อทดสอบระดับภูมิคุ้มกัน ในน้ำลายของนักบอลอาชีพสเปญ 24 คน โดยเก็บตัวอย่างก่อนและหลัง แข่งขันฟุตบอล 70 นาที    ก่อนเล่น  ระดับภูมิคุ้มกัน ในน้ำลาย อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลังเล่น  ระดับภูมิคุ้มกัน ในน้ำลาย ของผู้เล่นหลายคนลดลงเป็นอย่างมาก             คำอธิบายเรื่อง การออกกำลังกายกับภูมิคุ้มกัน เริ่มเห็นชัดเจนขึ้น เมื่อศึกษาถึงระดับเซลของหนูทดลอง     เมื่อมีการติดเชื้อไข้หวัดร่างกายของหนู  จะถูกกระตุ้นให้เพิ่ม TH1 -Type helper immune cells ซึ่งไปก่อให้เกิดภาวะอักเสบ inflammation และการเปลี่ยนแปลงอีกหลายประการในร่างกาย ซึ่งเป็นมาตรการด่านแรกในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส แต่ถ้าภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นนี้คงอยู่นานเกินไป ผลดีก็จะกลายเป็นผลเสีย  ภาวะอักเสบจะไปทำลาย cells ของร่างกาย  ธรรมชาติจึงต้องสกัดความสมดุลโดยการค่อย ๆ เพิ่ม cells ภูมิคุ้มกันอีกชุดหนึ่งเรียก TH2 helper cells เพื่อไปต่อต้านการอักเสบที่เกิดขึ้น  เปรียบเสมือนเป็นน้ำไปราดบนกองไฟ TH1 ที่ลุกอยู่     ร่างกายต้องการความสมดุลของ TH1 และ TH2 helper cells เป็นอย่างยิ่ง และความสมดุลนี้ต้องเป็นไปด้วยความละเอียดบรรจง    ตัวอย่างการทดลองของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์             หนูที่ออกกำลังกายพอควร ร่างกายหนูจะเพิ่ม ภูมิคุ้มกัน TH2 เร็วขึ้น เล็กน้อย หลังจากที่ภูมิคุ้มกัน TH1 เกิดขึ้นแล้ว (เมื่อมีการตอบสนองต่อการติดเชื้อ) การเพิ่มภูมิคุ้มกันเร็วขึ้นเพียงเล็กน้อย  สามารถเกิดผลดีต่อการต้านเชื้อไข้หวัด   “การออกกำลังกายพอควร ช่วยลด TH1 เล็กน้อย และเพิ่ม TH2 เล็กน้อย เช่นกัน”             ในทางกลับกัน การออกกำลังกายมากเกินไปจะไปกด TH1 มากไป  เปรียบเสมือนร่างกายยังสร้าง ท่อป้องกันแนวแรกยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี จึงทำให้เชื้อไวรัสบุกเข้าร่างกายได้มาก เมื่อเสร็จสิ้นจากการออกกำลังกายหนัก เช่น วิ่งมาราธอน ภาวะภูมิคุ้มกันจะถูกยับยั้งไว้ เป็นช่วงเวลาที่คุณไม่มีอะไรป้องกันตัวเอง ฉะนั้น ช่วงนี้ควร หลีกเลี่ยงจากคนใกล้ชิดที่ ไอจาม ล้างมือบ่อย ๆ ฉีดวัคซีนป้องกันหวัด และถ้าระวังทุกอย่างแล้ว แต่คุณก็ยังเริ่มรู้สึกไม่สบาย จงพักร่างกายคุณ และอย่าเสี่ยงไปออกกำลังกายอีก            โดยทั่วไป การออกกำลังกายพอควร เช่น เดิน หรือ Jogging  จะเสริมภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้นสามารถลดความรุนแรงและระยะเวลาของการเป็นไข้ติดเชื้อที่ไม่รุนแรงได้ แต่ควรปฏิบัติด้วยความเที่ยงตรง นั่นคือ ถ้ารู้สึกไม่สบาย โดยเฉพาะ ปวดเมื่อย มีไข้ ควรหยุดออกกำลังกาย จนกว่าอาการจะดีขึ้น ถ้าคุณมีอาการแค่เป็นหวัดมีน้ำมูก เล็กน้อย การออกกำลังกายอาจทำให้อาการคุณดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามไม่ควรออกกำลังกายเป็นเวลานาน ๆ (เป็น ชม.ๆ) เนื่องจากจะไปปรับสมดุลของการระบบภูมิคุ้มกัน TH1 และ TH2 ให้ไม่สมดุลย์            เมื่อได้ทราบคำอธิบายทางภาคทฤษฎีแล้วมาดูเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ออกกำลังกายมากๆว่า ก็ไม่เลวร้ายอะไรมากนัก ผลสำรวจล่าสุดพบว่านักวิ่งมาราธอน ปี 2000 ที่กรุง Stockholm (จำนวนนักวิ่ง 694 คน)  ได้รายงานภาวะไข้หวัดหรือไข้ติดเชื้ออื่น ๆ ในช่วงเวลา 3 สัปดาห์ก่อนวิ่งแข่ง และ 3 สัปดาห์ หลังแข่งเสร็จ พบว่า 1 ใน 5 รายงานการเจ็บป่วยในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งสูงกว่าในหมู่ประชากรทั่วไป แต่ก็หมายความว่า นักวิ่งส่วนมาก 80% ไม่มีการเจ็บป่วยใด ๆ   แปลโดย นพ.กิตติ ตระกูลรัตนาวงศ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ประจำรพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคมะเร็ง (Cancer) เผย 3 สาเหตุหลัก พร้อมวิธีป้องกัน

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็ง พบว่า ปี 2541 ที่ผ่านมามีคนไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งถึง 90,000 คน จำนวนนี้ไม่นับคนที่เป็นรายเริ่มแรกไม่มีอาการ ไม่มาตรวจหรือไปรักษากับหมอแผนโบราณอีกเท่าไร และถ้านับสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย มะเร็งดูจะเป็นอันสอง เป็นรองก็แต่โรคหัวใจเท่านั้น แม้ว่าวิทยาการทางแพทย์จะก้าวหน้าไปมากทำให้เราสามารถที่จะวินิจฉัยโรคมะเร็งได้รวดเร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งการรักษาให้หายขาดด้วยการฉายแสงหรือเคมีบำบัด ก็ยังถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อย เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง สาเหตุของโรคมะเร็ง ชนิดของมะเร็งในคนเรามีแตกต่างกันไปมากกว่า 100 ชนิดเลยทีเดียว ตรงนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้ผลการรักษาแตกต่างกันออกไป ถ้าทำได้คงไม่มีใครอยากพบเจอกับโรคมะเร็งแน่นอน ก็ต้องมาพิจารณากันให้เข้าใจว่า แล้วอะไรกันที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งกันแน่ นักวิทยาศาสตร์ทราบกันมามากกว่า 20 ปี แล้วว่า มะเร็งนั้นเป็นโรคที่มีความผิดปกติของสารพันธุกรรมภายในเซลล์ที่เรียกว่า ยีน (gene) ที่มีสภาวะบางอย่างทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแบ่งตัวที่ไม่สามารถควบคุมได้ เกิดมีการเพิ่มปริมาณมากจนเป็นเซลล์มะเร็ง ยีนที่ควบคุมการเกิดมะเร็งนี้เราเรียกว่า ยีนก่อมะเร็ง (oncogene) ซึ่งอาจมีการส่งผ่านทางกรรมพันธุ์ หรือเกิดขึ้นภายหลังอันเนื่องมาจากผลกระทบของสารเคมี เช่น อนุมูลอิสระ ดังที่กล่าวข้างต้น ตามหลักการของการเกิดโรคมีปัจจัยใหญ่ๆ อยู่ 3 อย่างที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด คือ  Host (ตัวผู้ป่วย) Agent (สารก่อมะเร็ง, เชื้อโรค) Environment (สภาพแวดล้อม) 1. ตัวผู้ป่วย ตัวผู้ป่วยเองเป็นปัจจัยที่สำคัญเพราะเซลล์ในร่างกายคนเราซึ่งมีถึงเกือบห้าหมื่นล้านเซลล์นี้ ถ้าเซลตัวใดตัวหนึ่งเกิดแปลกปลอมขึ้นมาก ก็จะถูกระบบภูมิคุ้มกันเล่นงาน ถ้าหากระบบนี้ทำงานแย่ก็จะเปิดโอกาสให้มีการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งเกิด ขึ้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า คนที่ประสบกับภาวะเครียดจัดสูญเสียอย่างรุนแรง ไม่ช้าไม่นานก็จะป่วยด้วยโรคมะเร็ง เพราะภูมิต้านทานลดลงนั่นเอง 2. สารกัมมันตรังสี, เชื้อโรค สารกัมมันตรังสี เช่น กรณีการระเบิดของโรงงานปฏิกรณ์ปรมาณู หรือสงครามนิวเคลียร์จะพบอุบัติการณ์มะเร็งของเม็ดโลหิตขาว และมะเร็งผิวหนัง เพิ่มขึ้น มะเร็งตับมีสาเหตุที่ทราบแน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับสารที่ชื่อว่า อะฟลาทอคซิน ซึ่งอยู่ในอาหารประเภทถั่วที่ขึ้นรา ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี แบบเรื้อรัง ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญเพราะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งตับเพิ่มขึ้นถึง 200 เท่าเลยทีเดียว คนไข้ประเภทนี้จะไม่มีอาการผิดปกติเรียกว่าเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี (HBV carrier) จำเป็นต้องรับการตรวจค้นหามะเร็งตับตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ด้วยการทำอัลตราซาวน์ทุก 6 เดือน -1 ปี มะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่เกิดกับท่อทางเดินน้ำดี ซึ่งพบบ่อยทางภาคอีสาน มีสาเหตุเกิดมาจากการรับประทานปลาดิบร่วมกับสารประเภทไนโตรซามีน ซึ่งได้มาจากการหมักโปรตีนกับสารพวกดินประสิว มะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งซึ่งพบความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับคนที่ชอบทานเนื้อสัตว์ แต่ไม่ชอบทานอาหารที่มีกากใย คือ พวกพืชผัก และธัญพืชต่างๆ ทำให้มีปัญหาเรื่องท้องผูกเป็นประจำ สารพิษ สารก่อมะเร็ง มีโอกาสเล่นงานเซลล์ลำไส้ได้มากขึ้น  ดังที่ยกตัวอย่างมา เป็นเพียงส่วนน้อยในจำนวนสาเหตุการเกิดมะเร็งทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่เราก็ยังไม่สามารถหาคำตอบไดว่า สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งเหล่านั้น คืออะไรแน่ แต่จะเห็นไดว่ามีจำนวนไม่น้อยเกี่ยวข้องอาหารที่เรารับประทาน ซึ่งก็เป็นดังภาษิตฝรั่งที่ว่า “You are what you eat “ คงไม่ผิด 3. สภาพแวดล้อม สารก่อมะเร็งและการติดเชื้อ เป็นปัจจัยสำคัญดังที่กล่าวแล้ว เรื่องของ มลพิษ ควันบุหรี่ อาหารที่ไหม้เกรียม เป็นต้นกำเนิดของอนุมูลอิสระซึ่งจะเข้าทำลายเซลล์ การติดเชื้อไวรัสบางชนิดอาจก่อให้เกิดมะเร็งของลำคอ คือ หรือกากมดลูก พบว่าหญิงที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่วัยรุ่นมีโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกเพิ่ม ขึ้นอย่างมาก วิธีป้องกัน ถ้าจะให้พูดถึงหลังการป้องกันมะเร็งโดยสรุป ก็พอจะแยกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทราบแน่ชัด เช่น สารพิษ ควันบุหรี่ อาหารปรุงแต่งรส สีเนื้อที่ไหม้เกรียม ทานอาหารธรรมชาติ เช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้ที่สดสะอาดให้มากๆ เข้าไว้ โดยไม่พยายามให้ให้ซ้ำซาก เพื่อจะได้รับสารอาหารหลากหลายชนิด หมั่นออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างถูกวิธี ให้พอเหมาะพอดี ดื่มน้ำให้มาก ขับถ่ายให้เป็นเวลา พยายามอย่างให้ท้องผูก ทำจิตใจให้เบิกบาน มองโลกในแง่ดี รู้จักแก้ปัญหาชีวิตในทางที่ถูกต้อง การตรวจมะเร็งประจำปี โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม และปากมดลูก ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า มะเร็งรักษาหายได้เป็นในระยะเริ่มแรก ความเชื่อที่ผิด 4 ประเด็นหลัก กับ โรคมะเร็ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวย ได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์เรื่องการทำลายความเชื่อที่ผิด 4 ประเด็นหลัก ในปี 2557 ไว้น่าสนใจดังนี้ ความเชื่อที่ผิดประเด็นที่ 1: เราไม่ควรพูดคุยกันเรื่องโรคมะเร็ง เพราะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าหรือเป็นเรื่องที่น่าอาย ที่ต้องการปกปิดไว้ไม่ให้ใครรู้ แต่ความจริงคือการที่ได้พูดคุยกันเรื่องโรคมะเร็ง รวมไปถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งในสังคม จะช่วยให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในการดูแลตนเองตั้งแต่การป้องกัน การตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น การเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้องและได้ผลการรักษาที่ดี และการที่ผู้ป่วยมีโอกาสพูดคุย จะสามารถระบายและสามารถปรึกษาผู้อื่นรวมถึงญาติพี่น้อง ซึ่งจะช่วยให้ความวิตกกังวลลดลง รวมถึงผู้ที่ดูแลผู้ป่วยก็จะมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลและให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ความเชื่อที่ผิดประเด็นที่ 2: มะเร็งเป็นโรคที่ไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ซึ่งความจริงก็คือมะเร็งหลายชนิดมีอาการและอาการแสดงนำมาก่อน ที่ทั่วโลกต่างรณรงค์กันเรื่อง 7 สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็งอันประกอบด้วย ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปร แผลที่ไม่รู้จักหาย ร่างกายมีก้อนตุ่ม กลุ้มใจเรื่องกลืนกินอาหาร ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล ไฝหูดที่เปลี่ยนไป ไอและเสียงแหบเรื้อรัง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งก็ได้ แต่ถ้าเป็นมะเร็งที่พึ่งเริ่มมีอาการ โอกาสที่จะรักษาหายขาดก็มีมาก ความเชื่อที่ผิดประเด็นที่ 3: เราไม่สามารถทำอะไรได้กับมะเร็ง เรียกว่ามะเร็งเป็นสิ่งที่เราจัดการอะไรไม่ได้เลย เป็นมะเร็งเพราะโชคชะตาฟ้าลิขิตเป็นเรื่องของเวรกรรม แต่แท้จริงแล้วเราสามารถป้องกันไม่ให้ตนเองเป็นมะเร็งหลายชนิดได้ ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง การปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง โดยต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ในระดับบุคคล ระดับสังคมและนโยบายระดับประเทศ รวมถึงการออกกฎหมายควบคุมและดำเนินการอย่างจริงจัง ก็จะสามารถลดการเกิดมะเร็งในภาพรวมได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ความเชื่อที่ผิดประเด็นที่ 4: เราไม่มีสิทธิ์ได้รับการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยทุกสิทธิ์การรักษาสามารถได้รับการรักษาโรคมะเร็งได้ทุกคน ทั้ง 3 กองทุนคือ สิทธิ์ตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค สิทธิ์ประกันสังคม สิทธิ์กรมบัญชีกลาง เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปเสียเงินรักษาเอง หรือไปรักษาในแนวทางที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ  เนื้องอกกับมะเร็งต่างกันอย่างไร? เนื้องอก - เป็นก้อนเนื้อที่งอกขึ้นในอวัยวะต่างๆ เนื้องอกอาจทำให้เกิดปัญหาการกดทับได้ แต่ไม่สามารถลุกลามเข้าไปในเนื้อเยื่ออื่นๆได้ ถ้าต้องรักษาส่วนมากผ่าออกก็จะหาย  มะเร็งหรือเนื้อร้าย - เป็นเนื้องอกที่สามารถลุกลามเข้าไปโตในเนื้อเยื่อชนิดอื่นๆ ได้ ทั้งที่อยู่ในบริเวณรอบๆ ใกล้เคียง หรือไกลออกไป การรักษาจะยากกว่าเนื้องอกเพราะมะเร็งชอบทิ้งเซลล์เล็กๆไว้ในร่างกายถึงแม้จะผ่าเอาก้อนออกไปได้ ดังนั้นการรักษามะเร็งจึงต้องพยายามทำลายเซลล์เล็กๆเหล่านั้นด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใช้คีโม รังสีรักษา สารกลุ่มที่เรียกกันว่าไบโอลอจิกชนิดต่างๆ ฯลฯ แพทย์ นพ.วรงค์ ลาภานันต์ แผนกอายุรกรรมโรคหัวใจ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ออกกำลังกายช่วยลดเสี่ยงโรคหัวใจ

ออกกำลังกายช่วยลดเสี่ยงโรคหัวใจ อายุแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลวิภาวดี เผยสถิติผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจสูงขึ้นเป็นอันดับสองรองจากโรคมะเร็ง แถมมีแนวโน้มพบในคนอายุน้อยลงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดพบในผู้ป่วยอายุเพียง 29 ปี    ออกกำลังกายช่วยลดเสี่ยงโรคหัวใจ   อายุแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลวิภาวดี เผยสถิติผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจสูงขึ้นเป็นอันดับสองรองจากโรคมะเร็ง แถมมีแนวโน้มพบในคนอายุน้อยลงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดพบในผู้ป่วยอายุเพียง 29 ปี            นพ.เสมชัย เพาะบุญ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ  โรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวว่า  โรคหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการกินดีอยู่ดี และความสะดวกสบายมากขึ้น โดยที่ในอดีตมนุษย์มักเสียชีวิตส่วนใหญ่จากสงคราม และโรคติดเชื้อเท่านั้น แต่ในปัจจุบันโรคที่เป็นปัญหาหลักที่ทำให้เสียชีวิต ได้แก่ โรคมะเร็ง และ โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยโรคหัวใจและหลอดเลือดจะมีปัจจัยเสี่ยงหลัก  2 ประเภท คือ ปัจจัยที่แก้ไข้ไม่ได้ เช่น เพศ ซึ่งพบในชายมากกว่าหญิง อายุ วัยเสี่ยงคือเผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป และ กรรมพันธุ์ คือ มีพ่อแม่และญาติที่เป็นสายตรงเป็นโรคหัวใจ และ ปัจจัยที่แก้ไขได้ เช่น การสูบบุหรี่            “โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คลอเรสเตอรอลสูง และโรคที่กำลังมีแนวโน้มพบมากขึ้น ได้แก่ โรคอ้วนลงพุง คือภาวะที่มีรอบเอวเกินมาตรฐาน โดยในผู้ชายมากกว่า  36 นิ้ว และในผู้หญิงมากกว่า 32 นิ้วและมีความผิดปกติของน้ำตาลในเลือด แนวทางในการป้องกันก็คงต้องเน้นไปที่  ปัจจัยที่สามารถแก้ไขได้เป็นหลัก อันดับแรก คือ ในผู้ที่สูบบุหรี่ต้องหยุดสูบบุหรี่ ซึ่งรวมไปถึงผู้ใกล้ชิดที่มีโอกาสได้รับควันบุหรี่ด้วย ทั้งนี้ พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีอายุสั้นกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 ปีทีเดียว”            แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวต่อว่า เราทุกคนควรหมั่นตรวจร่างกายว่าเรามี ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน หรือมีระดับไขมันในเลือดผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีควรได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยลดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้ ในระยะแรกที่ยังเป็นไม่มากควรใช้การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายก่อน แต่ถ้าเป็นมากก็ต้องใช้ยารักษา อันดับสุดท้ายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือการออกกำลังกายให้เหมาะสมและเพียงพอ ก็จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจได้            “การออกกำลังกายที่ดีควรทำแบบต่อเนื่อง คือมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อตอนเริ่มต้น เพื่อช่วยลดการบาดเจ็บ มีการเริ่มต้นช้าๆ เพื่ออบอุ่นร่างกายและเตรียมพร้อม จากนั้นค่อยๆ เพิ่มความเร็วและเวลามากขึ้น และสุดท้ายต้องมีการค่อยๆ ลดความเร็วลงเพื่อให้ร่างกายและหัวใจกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ            ควรออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ  20-30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นไป แต่กระนั้นผู้มีปัจจัยเสี่ยง อย่าวิตกจริตเกินเหตุ เพราะอาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอกไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคหัวใจเสมอไป            นอกจากนี้ นพ.เสมชัย ได้ให้คำแนะนำในการสังเกตุอาการของผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ การสังเกตุตามกลุ่มอาการ เช่น กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยจะมีเจ็บแน่นหนักหน้าอกเหมือนถูกบีบรัด ร้าวไปที่คอ, กรามล่าง, ไหล่ และแขนซ้าย นอกจากนี้อาจมีเหงื่อแตก หน้ามืด หรือเหนื่อยหอบร่วมด้วย มักเป็นขณะออกแรงหรือออกกำลังมากไป อย่าปล่อยให้เจ็บเกิน 5 นาที ควรรีบพบแพทย์            กลุ่มโรคของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยจะเหนื่อยง่าย หอบหนักผิดปกติ แม้เวลากลางคืน นอนราบไม่ได้ กลุ่มโรคของระบบไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ผู้ป่วยมักมีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย บางรายอาจมีวูบเป็นลมหมดสติได้ “ตัวผู้ป่วย ญาติ และผู้ใกล้ชิด ควรตระหนักถึงเรื่อง ‘เวลา’ เป็นสิ่งสำคัญ หากพบผู้ป่วยมีภาวะอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจให้เร็วที่สุด”    นพ. เสมชัย เพาะบุญ กล่าวทิ้งท้าย                     LINETwitterFacebookWhatsApp

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม