โรคฝีดาษลิง

            เกิดจากเชื้อไวรัสเป็นโรคในตระกูลเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า มีรังโรคอยู่ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ ส่วนใหญ่พบในประเทศแถบตะวันตกของทวีปแอฟริกา ขณะนี้พบในผู้ติดเชื้อที่สหรัฐฯ, ยุโรป, แคนาดา, อิสราเอล และออสเตรเลีย ประมาณกว่า 300 คนแล้ว เป็นเพศชายเกือบทั้งหมด กลุ่มที่ควรเฝ้าระวังให้หลีกเลี่ยงคือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ สตรีมีครรภ์และเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี             อาการ หลังได้รับเชื้อจะมีระยะฟักตัวเฉลี่ย 7 – 14 วัน จะมีไข้หนาวสั่น, ปวดหัว, มีอาการทางเดินหายใจ, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, และต่อมน้ำเหลืองโต เมื่อไข้ลดจะเกิดผื่นขึ้น ผื่นพบที่ศีรษะ, ลำตัว, แขน, ขา และฝ่ามือ ฝ่าเท้า ผื่นเริ่มจากตุ่มแดงเปลี่ยนเป็นขุ่นขาว ตรงกลางมีรอยบุ๋ม ผื่นที่ขึ้นจะอยู่ในระยะเดียวกัน อาการโรคใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ อาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็กเล็ก การติดต่อ สัมผัสสารคัดหลั่ง ทางผิวหนัง, เยื่อเมือก เช่น จมูก ปาก ตา ละอองฝอยทางการหายใจ ทานเนื้อสัตว์ติดเชื้อปรุงสุกไม่พอ สัมผัสที่นอนของสัตว์ที่ป่วย หรือถูกสัตว์ป่วยกัด การป้องกัน - หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า หรือผู้มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยง - หลีกเลี่ยงทานเนื้อสัตว์ปรุงสุกไม่พอ - ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์ - ประชากรไทยที่เกิดก่อนปี 2517 เกือบทุกคนจะได้รับการปลูกฝี สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ดูแลผิวสวยใสในช่วง…หน้าร้อน

ดูแลผิวสวยใสในช่วง…หน้าร้อน นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ  อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง        สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ผมมีวิธีดูแลผิวในช่วงหน้าร้อนมาฝากกันครับ ปัญหาที่เจอเป็นประจำทุกปี ก็คงเป็นเรื่อง ผิวดำ คล้ำ เกรียมไหม้ ลอก ฝ้า-กระเข้มขึ้น บางคนก็ถึงขั้น ผิวเหี่ยวแห้งไปเลย อากาศยิ่งร้อนขึ้นทุกวัน หลายท่านก็หนีร้อนไปตากอากาศและที่นิยมมากที่สุดก็คงเป็น ทะเล ผมว่าเรามารู้จักกับแสงแดดกันดีกว่า เพื่อเตรียมตัวรับมือเผชิญกับแสงแดดโดยเฉพาะแดดหน้าร้อน ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูตัวร้ายต่อผิวพรรณแล้วคุณจะผ่านหน้าร้อนนี้ไปได้ โดยยังคงผิวสดใสชุ่มชื้น         ก่อนอื่นมารู้จักกับแสงแดดก่อนนะครับ แสงแดดเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic) ประกอบด้วย คลื่นที่มีความยาวต่างๆ กันไป เรียงลำดับจากยาวไปสั้น คือ รังสีแกมมา , รังสีเอกซ์ , รังสีเหนือม่วง C,B,A (Ultraviolet C,A,B) แสงที่มองเห็น (Visible Lights) ได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสดและแดงและรังสี โดยปกติชั้นบรรยากาศสามารถดูดซับและกรองรังสีบางส่วน เหลือแค่ อุลตร้าไวโอเลต A,B Visble Light และ Infrared ที่ลงมาถึงพื้นโลก และในช่วงฤดูร้อนพระอาทิตย์จะอยู่ใกล้ผิวโลก จึงทำให้ปริมาณรังสีพวกนี้ลงมาถึงพื้นโลกมากขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ แต่จำไว้นะครับว่า ไม่ว่าฤดูไหน ฝนตกไม่เห็นแดด ก็มีรังสีทั้งนั้น รังสีพวกนี้เป็นเหมือนดาบสองคม คือประโยชน์มากมายคณานับ เช่น ให้ความอบอุ่น แก่สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ฆ่าเชื้อโรค เช่นแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ,ทำให้เรามองเห็น,รักษาโรคได้ เช่น โรคสะเก็ดเงิน ด่างขาว ช่วยสังเคราะห์ ไวตามิน D แต่โทษมหันต์ เช่นกัน โดยเฉพาะต่อสุขภาพผิว โดย (Ultraviclet) และ (Infra-red) จะทำให้ผิวคล้ำ, ดำ, ไหม้เกรียมลอก บางครั้งพองตุ่มน้ำ เกิดกระ เกิดฝ้า ยิ่งกว่านั้น (Ultraviclet) ยังทำลายเนื้อเยื่อเดียวกัน Collafen ,Elastin เป็นโครงสร้าง กักเก็บน้ำให้ผิวหนัง ถ้าถูกทำลาย ผิวก็จะเหี่ยวแห้งขาดความชุ่มชื้น จนกลายเป็นผิวแก่ก่อนวัย ( Photoagihy ) ยิ่งร้ายกว่านั้น ทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติ , สารพันธุกรรมเปลี่ยนแปลง เกิดก้อนผิวหนังแปลกๆ ซึ่งอาจจะพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งได้ในอนาคต         แต่อย่างไรก็ตามร่างกายของคนเราก็แสนจะวิเศษ มีกลไก ป้องกันและแก้ไขพิษภัยของแสงแดดได้แก่ ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า หนาขึ้น, เซลล์สร้างเม็ดสี (Melanoarte ) จะทำงานมากเพื่อจะผลิตเซลล์เม็ดสี melanm และกระจายออกไปบนชั้นผิวหนัง มีความสามารถ ดูดซับรังสีอุลตราไวโอเลต ไม่ให้ลงมาในชั้นผิวหนังล่างๆ ซึ่งมีอวัยวะสำคัญอยู่ เลยเป็นความโชคดีของคนผิวคล้ำสีเข้มๆ ที่เหมือนมียากันแดดประจำตัว นอกจากนั้น ร่างกายยังมี สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) คอยต้านอนุมูลอิสระ ( Free radicals ) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากรังสีอุลตาไวโอเลต สุดท้ายยังมีขบวนการซ่อมแซมพันธุกรรม (DNA Repair) เมื่อมีเซลล์ที่ผิดปกติก่อตัวขึ้น กลไกลทั้งหมดนี้อาจจะไม่เพียงพอ ถ้าเราไปสัมผัสรังสีเหล่านี้ปริมาณมากๆ และสะสมเป็นเวลานานๆ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องช่วยเหลือโดยการ เลี่ยงแดดในช่วงที่มีรังสีเยอะ คือ 10.00 น.- 15.00 น. การแต่งกายเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสม เช่น กีฬากลางแจ้ง, นักกอล์ฟ นอกจากเสื้อแขนยาว, อาจต้องมีหมวกปีก, ร่ม และแว่นตา จะลดปริมาณรังสีที่มากระทบยังเราได้ แต่บางคนที่ต้องไปทะเลเสื้อผ้าคงจะต้องมีน้อยชิ้น ดังนั้น ยากันแดด ซึ่งมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ  ปัญหาที่ตามมาก็คือ ท้องตลาดมีไม่น้อยกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ จะเลือกอย่างไร จึงจะเหมาะกับเรา ก่อนอื่นมาดู ชนิด ประเภทกันแดดก่อน ชนิดแรกคือสะท้อน (Physical Sunscuee) ได้แก่ ไททาเนียม,สังกะสีออกไซด์ แม้แต่การพอกดินสอพอง ก็สามารถสะท้อนรังสีได้ ยากันแดดประเภทนี้ ทาแล้วจะดูขาว,สะท้อนเป็นวาวๆ และอีกประเภทคือ ดูดซับ+กรองรังสี ( Chemical Sunscene ) จะดูดซับรังสีไม่ให้ลงไปในผิวหนัง            ซึ่งปัจจุบันยากันแดดส่วนใหญ่ มักจะผสมกันทั้ง 2 ประเภท ต้องเลือกชนิดที่สามารถป้องกันได้กว้าง คือ ได้ทั้ง (Ultraviclet A/B ) และ(Infra-red ) โดยดูที่ฉลากข้างผลิตภัณฑ์ SPF เป็นค่าประเมินอาการแดงใหม่ จาก UVB เปรียบเทียบก่อนและหลังทา แต่สำคัญ UVA ยังไม่มีค่ามาตรฐาน แน่นอน นิยมใช้ (Profelhon for UVA (PA) โดย PA ให้มี +++ และคนผิวขาว SPF ยิ่งสูงจะดี ถ้าเป็นคนคล้ำง่าย SPF ก็จะต่ำลงมาได้ หลังจากดูค่า SPF และ PA แล้ว ยังต้องดูเรื่องกันน้ำ(Water Prsof หรือ Water Resistaue) ซึ่งจำเป็นถ้าต้องลงว่ายน้ำ และกีฬาที่มีเหงื่อ หรือโดนลมมากๆ           ปริมาณที่ใช้ก็สำคัญ ไม่น้อยจนเกินไป และต้องทาเป็นประจำทุกวัน และก่อนออกแดดประมาณ 30 นาที ทาซ้ำบ่อยๆ หรือ ทุก 2-3 ชั่วโมง ที่สำคัญคือคนผิวขาวๆ ต้องต้องระวังเป็นพิเศษมากกว่าคนผิวคล้ำ ดำง่าย เพราะ (Melanin) จะกระจายตัวได้ดีกว่า และดูดรังสีได้ดีกว่า และที่กำลังฮอต คนให้ความสนใจ คือ ไวตามิน อาหารเสริม ต่างๆ ซี่งออกมาโฆษณาว่ามีคุณสมบัติเป็น (Anlioxident) หรือเป็นยากันแดดได้ เช่น(Ultamie A,C,E,Co-Anzye Q10) ไม่ว่าทาหรือทาน           แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ยังไม่สรุปแน่นอน เป็นแค่การศึกษาค้นคว้าจากสถาบันต่างๆ ดังนั้นจึงควรศึกษาและพิจารณา ไว้ด้วยวิจารณญาณของแต่ละคนครับ สุดท้าย ถ้าทุกท่านทำได้ ก็หมายความว่า ท่านได้ช่วยเหลือปกป้องผิวหนังของท่านให้ผ่านพ้นฤดูร้อน หรือพิษภัยของแสงแดด แต่ถ้าปัญหาเกิดกับท่านแล้วก็ไม่ต้องสิ้นหวังนะครับ เรามีทางแก้ไข เข้ามาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแพทย์ผิวหนังเพื่อจะได้ช่วยท่านให้ตรงกับปัญหาและตรงจุด มากที่สุดครับ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

วิธีเลือกซื้อครีมกันแดด

วิธีเลือกซื้อครีมกันแดด           ในแสงแดดมีรังสีอยู่หลายชนิดนะครับ ที่รู้จักกันดีก็คือ อุลตราไวโอเลต (UV) ซึ่งรังสีนี้จะถูกดูดซับโดยชั้นโอโซน มีแค่ UVAและ UVB ที่ลงมาถึงพื้นโลก ซึ่งรังสีทั้ง 2 ชนิดนี้มีผลต่อผิวหนังโดยเฉพาะ UVA มีผลทำให้เกิด กระ ฝ้า เหี่ยว แก่ก่อนวัย UVB มีผลทำให้เกิดการ แดง แสบ ไหม้ ของผิวหนัง และรังสีทั้ง 2 ชนิดนี้ยังทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งจะทำลายโปรตีนพันธุกรรมทำให้เกิดเนื้องอกผิวหนังได้ครับ แต่ไม่ต้องตกใจนะครับเพราะว่า... วันนี้ผมมีวิธีเลือกซื้อครีมกันแดดมาฝากกันครับ    1.         SPF (Sun Protective Factor) ซึ่งเป็นตัวบอกว่า ป้องกัน UVB ได้กี่เท่าส่วน UVA ยังไม่มีค่ามาตรฐาน ปัจจุบันนิยมใช้ PA และเครื่องหมาย + ปกติคนไทยมีผิวคล้ำซึ่งเม็ดสีสามารถป้องกัน UVB ได้บ้างแล้ว ดังนั้น SPF มากกว่า 15 และ PA++ ขึ้นไป ก็เพียงพอ  2.         ดูที่กิจกรรม ถ้าออกกำลังกลางแจ้ง มีเหงื่อ ว่ายน้ำ ทำงานกลางแดด ต้องใช้ SPF ที่สูงขึ้นและเลือกประเภทที่กันน้ำได้ (Water Proof หรือ Water Resistance) 3.         ปริมาณ ควรใช้ปริมานที่ไม่น้อยเกินไป เพราะสารเคมีอาจทำปฏิกิริยากันทำให้ลดคุณภาพลงไป 4.         จำนวนครั้งที่ทาต่อวัน ก็สำคัญ ถ้าอยู่ในออฟฟิศ ห้องแอร์ วันละครั้งก็เพียงพอ แต่ถ้าต้องทำงานกลางแดด โดนลม อาจจะทาเติม ถ้าว่ายน้ำต้องทาทุก 2-3 ชั่วโมง 5.         ทาแล้วก็ต้องเลี่ยงแดดด้วย ใส่แว่น ใส่หมวก เนื่องจากครีมกันแดดไม่ได้กันได้ 100 % 6.         ยี่ห้อ ราคา ไม่สำคัญ ขอให้มีคุณสมบัติครบ ไม่มีปฏิกิริยาต่อผิวหนัง เช่น คัน ผื่น 7.         อาหาร อย่าลืมทานอาหารที่มีความสามารถ กำจัดอนุมูลอิสระ เช่น วิตามิน เกลือแร่ ในผักทุกชนิด และผลไม้ด้วย             ถ้าคุณ..รู้จักเลือกใช้ครีมกันแดดให้เหมาะสมกับกิจกรรมชีวิตประจำวันของคุณแล้ว ... คุณก็จะสามารถปกป้องผิวสวยของคุณ..จากแสงแดดได้สบายเลยครับ   นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ  อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เตรียมสุขภาพรับมือกับฤดูหนาว

เตรียมสุขภาพรับมือกับฤดูหนาว นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ อายุรแพทย์โรคผิวหนัง รพ.วิภาวดี      คงจะเริ่มสัมผัสอากาศเย็นๆ แห้งๆ กันบ้างแล้วนะครับ แต่ละคนจะมีประสบการณ์กับฤดุหนาวที่แตกต่างกัน บางคนก็ชอบ เพราะรู้สึกสดชื่น เย็นสบาย แห้ง ไม่เหนอะหนะ แต่บางคนกลับไม่ชอบ บางครั้งกลัวหน้าหนาวไปเลยก็มี เพราะปัญหาบางอย่างมักที่เกิดตอนหน้าหนาว ยกตัวอย่าง เช่น พออากาศเริ่มเปลี่ยน โรคภูมิแพ้จะกำเริบ ตาและจมูก จะคันแห้งบวม จาม น้ำมูกไหล บางครั้งถึงกับเป็นไซนัสอักเสบ สาเหตุก็เนื่องมาจาก ภูมิแพ้ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม และมีตัวกระตุ้น คืออากาศที่เปลี่ยนแปลง ความแห้ง ฝุ่น ละอองเกสร แม้แต่ความเครียด หรือการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ แต่พอเลยหน้าหนาว ตัวกระตุ้นหมดไป อาการเหล่านี้ก็ดีขึ้น โรคบางอย่างก็มักจะมาช่วงหน้าหนาว เช่น โรคติดต่อทางเดินหายใจ ไข้หวัด หัด สุกใส เป็นการระบาดของเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันทางลมหายใจ       ดังนั้นเราควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนที่เพียงพอ เน้นรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ ซึ่งมีวิตามินและเกลือแร่ เพื่อเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมรับมือกับหน้าหนาว นอกจากนี้โรคผิวหนังบางชนิดก็จะกำเริบในช่วงที่อากาศหนาว อากาศแห้ง เช่น ภูมิแพ้ผิวหนัง ผิวจะแห้งมาก คัน เกาจนถลอกติดเชื้อ บางคนผิวแห้งแตกลายเป็นเกล็ดงูเกล็ดปลา โรคสะเก็ดเงิน หรือ เรื้อนกวาง ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่มักจะกำเริบในช่วงหน้าหนาว แต่ไม่ต้องตกใจนะครับ เพียงแค่เราต้องบำรุงรักษา ผิวหนังอย่าให้แห้งโดยเด็ดขาด อย่าอาบน้ำร้อน หมั่นทาโลชั่น หรือน้ำมันหลังอาบน้ำ จะเป็นการทดแทนหรือเคลือบน้ำไว้กับผิวหนัง และใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด เพื่อลดการระเหยของน้ำจากผิวสู่บรรยากาศ      ที่สำคัญนะครับ ต้องทำตัวเองให้สดชื่น ขจัดความขี้เกียจ ทำสมองให้แจ่มใส โดยการทานอาหารเช้าทุกวัน ครบหมวดหมู่ ทานอาหารที่ให้พลังงาน มีประโยชน์ต่อสมอง เช่น โอเมกา 3 จากปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน และ ทูน่า และ โอเมกา 6 จากน้ำมันงา น้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวัน หลีกเลี่ยงอาหารหวาน หรือที่มีน้ำตาลมาก เลี่ยง ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่เป็น แอลกอออล์ และน้ำอัดลม ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีควันบุหรี่ หรือ มลพิษ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าทำตามนี้ได้ ผมเชื่อว่า ทุกท่าน จะไม่กลัวฤดูหนาว และจะเปลี่ยนใจมาชอบหน้าหนาวมากขึ้นด้วยครับ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

7 วิธี ดูแลผิวสวยใสในหน้าหนาว

7 วิธี ดูแลผิวสวยใสในหน้าหนาว นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ อายุรแพทย์โรคผิวหนัง รพ.วิภาวดี      เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิจะลดลง ความชื้นในอากาศจะลดลง ทำให้อากาศรอบๆตัวเราแห้ง น้ำในผิวหนังจะระเหยผ่านผิวหนังออกมาสู่บรรยากาศ ดังนั้น คนที่ไม่ดูแลผิวหนัง ปล่อยปะละเลย จะเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติเร็วมากกว่าคนที่มีสุขภาพผิวสมบูรณ์ ที่เห็นชัดๆ ก็คือผมจะหวียาก คันหนังศีรษะ แห้ง กระด้าง ริมฝีปากจะแห้งเป็นร่อง เป็นขุย เจ็บ ผิวหนังก็จะแห้งเป็นขุย คัน มีผื่น บางคนเกาเป็นแผลมีสะเก็ด ใส่เสื้อผ้าแล้วเจ็บ มีไฟฟ้าสถิตดูดเสื้อผ้า แต่ยังไม่สาย เพราะเรามี 7 วิธี ที่จะทำให้คุณมีผิวสวยใส ในฤดูหนาวมาฝากกัน 1. อย่าทำให้ผิวแห้งมากขึ้น อย่าทำลายสารเคลือบผิวธรรมชาติของเรา ได้แก่ อย่าอาบน้ำร้อน อย่าใช้สบู่แรง ควรเลือกใช้สบู่ที่เป็นกรดอ่อน ไม่อาบน้ำบ่อยเกินไป เลี่ยงการขัดผิว พยายามใช้โลชั่น ครีมหรือออยทาหลังอาบน้ำเสร็จทุกครั้งและระหว่างวัน 2. เลือกแชมพูสระผมอ่อนๆ และควรใช้คอนดิชันเนอร์ทุกครั้งหลังสระ เพื่อปรับสภาพปะจุไฟฟ้า ผมไม่ชี้ฟู หวีง่าย 3. ทาวาสลินริมผีปาก เท้า มือ บ่อยๆ 4. ใส่เสื้อผ้าปกปิดมิดชิด เพื่อลดการสัมผัสกับความแห้ง เป็นการลดการเสียน้ำจากผิวหนัง 5. หลีกเลี่ยงแดด ลมแรง ใช้โลชั่นหรือครีมกันแดดสม่ำเสมอ 6. การใช้ยาบางชนิด อาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง เช่น ยารักษาสิว ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น ความดัน ไขมัน และทานยาลดไขมัน ยาขับปัสสาวะ ทำให้ผิวแห้งมากขึ้นได้ จำเป็นต้องดูแลมากกว่าปกติ เช่นเดียวกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีผิวแห้งอยู่แล้ว ถ้าดูแลแล้วยังเอาไม่อยู่ เกิดอาการคัน มีผื่น รีบพบแพทย์ผิวหนังรักษาแต่เนิ่นๆ 7. ทานผักผลไม้ทานน้ำให้มากๆ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ  ... แล้วฤดูหนาว จะเป็นฤดูกาลที่มีความสุข ถ้าคุณดูแลสุขภาพผิวพรรณ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง นพ. ธัญธรรศ  โสเจยยะ  อายุแพทย์โรคผิวหนัง รพ.วิภาวดี โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic  Dermatitis) และอาการของโรค         ท่านทราบหรือไม่ว่า  มีเด็กไทยที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี จำนวน 9-16 คนในทุก ๆ  100 คน  เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่เรียกว่า  Atopic  Dermatitis ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะมีอาการเห่อครั้งแรกภายในปีแรก และประมาณ 80-90% ของผู้ป่วยจะมีอาการเห่อครั้งแรกภายใน  5 ขวบปีแรก  โชคดีที่ความรุนแรงของอาการต่าง ๆ จะดีขึ้นเมื่อเด็กเติบโตขึ้น  อย่างไรก็ตาม  ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีอาการของโรคต่อเนื่องจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่  สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด  แต่เชื่อว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังประมาณ 50 % มีโอกาสที่จะเป็นโรคหอบหืดต่อไป (โดยเฉพาะเด็กที่มีอาการของโรครุนแรง ) และประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะเป็นโรคแพ้อากาศร่วมด้วยเมื่อเด็กโตขึ้น         ผื่นของโรคนี้มักจะขึ้นอย่างสมดุลซ้าย - ขวา ในเด็กทารกจะพบผื่นอักเสบบริเวณแก้ม  ลำคอ  บริเวณด้านนอกของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง  ในเด็กอายุหลัง 2-3 ขวบขึ้นไป จะพบผื่นอักเสบกระจายบริเวณลำตัวข้อพับแขน  ข้อพับขาทั้ง 2 ข้าง  ส่วนในผู้ใหญ่จะพบผื่นอักเสบบริเวณมือและเท้า  และผื่นมักไม่รุนแรงเท่าในเด็ก การรักษาและการบรรเทาอาการ         เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค  รวมทั้งโรคนี้เป็นโรคผิวหนังอักเสบแบบเรื้อรัง  ปัจจุบันจึงยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้  แนวทางการรักษาจึงเป็นการรักษาผิวหนังที่อักเสบให้กลับมาเป็นผิวหนังที่ปกติ  และป้องกันการเห่อช้ำของผื่น  ด้วยการรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ  หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน  เพราะจะทำให้ผิวยิ่งแห้งและยิ่งคันใช้สบู่อ่อนๆ  หรือเลือกสบู่ที่มีส่วนผสมของไขมันมากหน่อย  หลังอาบน้ำควรใช้โลชั่นบำรุงผิวทาภายใน 3 นาที  และต้องใช้เป็นประจำ  ส่วนเสื้อผ้าควรเลือกที่ทำจากใยฝ้าย  ไม่ควรใช้ใยสังเคราะห์หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นการเห่อของผื่น  เช่น  ความเครียด  ความร้อนหรือความเย็นมากเกินไป  ไรฝุ่น  อาหารบางชนิด  เช่น นม  ไข่  ถั่วลิสง  หากสังเกตว่าปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผื่นเป็นมากขึ้น         หากมีอาการของผื่นอย่างรุนแรงอาจใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนาน ๆ  เพราะอาจมีผลข้างเคียง  เช่น  ผิวบาง  ผิวแตกลายงา  หรือมีผลต่อระบบต่างๆ  ในร่างกายได้เมื่อยาถูกดูดซึมเข้าไปมากๆ  เช่นกดการเจริญเติบโตของเด็ก  เมื่ออาการของผื่นทุเลาลง  ควรเปลี่ยนมาใช้ยากลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์  เช่น Calcineurin  Inhibitors แทน  โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการผื่นระดับน้อยถึงปานกลางแต่ถ้ามีการติดเชื้อมีตุ่มหนองคราบน้ำเหลือง  ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ  ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจ  อาจใช้ยาแก้ชนิดรับประทานเพื่อบรรเทาอาการคันร่วมด้วย การป้องกันการกำเริบของผื่นอักเสบ (เห่อ)          ในรายที่เป็นเรื้อรังและมีการเห่อซ้ำบ่อย ๆ อาจทายากลุ่ม Calcineurin  Inhibitors   เมื่อเริ่มมีอาการและอาการแสดงของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังปรากฏขึ้น  เช่น  ผิวหนังแห้งตึงคันยุบ ๆ ยิบๆ มีอาการแสบ ๆ คันๆ ซึ่งจะช่วยหยุดหรือทำให้ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังลามช้าลง  และลดหรือป้องกันการกำเริบของผื่น (อาการเห่อ)  ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระยะยาวดีขึ้น        ปัจจุบัน  ทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่ไม่ใช่ยาทาสเตียรอยด์ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม  โปรดปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคภูมิแพ้  โรคผิวหนัง  หรือกุมารแพทย์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคเซ็บเดิม โรคผิวหนัง ที่มาพร้อมกับหน้าหนาว

โรคเซ็บเดิม โรคผิวหนัง ที่มาพร้อมกับหน้าหนาว นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ อายุรแพทย์โรคผิวหนัง รพ. วิภาวดี           เมื่อลมหนาวพัดมา ปัญหาที่คุณสาวๆ หรือแม้แต่คุณคุณผู้ชายต้องประสบ ก็คือ ปัญหาผิวหน้า และผิวหนังแห้ง ซึ่งเราจะเห็นว่าเมื่อลมหนาวโชยมา บวกกับความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ มักจะส่งผลให้เกิดปัญหาผิวหนังแห้งและคัน หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่า อาการคันเหล่านี้เกิดจากผิวแห้ง หรือไม่ก็เกิดจากความสกปรก จึงใช้สบู่กระหน่ำฟอกถูทาๆบริเวณนั้นมากขึ้น จนอาการก็หนักขึ้นเคยได้ยิน “โรคเซ็บเดิม” หรือรังแคของผิวหน้าบ้างไหมครับ โรคนี้ที่พบมากขึ้นในคนไทยโดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว            ขณะนี้ พบโรคเซ็บเดิมในคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว สาเหตุคือการที่เรามีความเครียด และการอยู่ห้องแอร์ เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ เนื่องจาก โรคเซ็บเดิม เป็นโรคในกลุ่มเดียวกับรังแคและโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ โดยที่โรคเซ็บเดิม จะแสดงอาการเป็นผื่นแดงตามหน้าผาก ข้างแก้ม คิ้ว หรือเป็นผื่นมีขุยที่เหนือคิ้ว ร่องจมูก และแนวไรผม สำหรับผู้ที่เป็นรุนแรงมาก แผลจะเห็นได้ชัดเจนมาก ซึ่งดูแล้วไม่ต่างไปจากโรคสะเก็ดเงิน นอกจาก จะพบผื่นที่ใบหน้าแล้ว ยังอาจพบผื่นที่หนังศีรษะคล้ายรังแค แต่หนังศีรษะจะมีผื่นแดง และยังพบตามตำแหน่งอื่น ๆ ที่มีต่อมไขมันมาก ได้แก่ ในรูหู หลังหู ในสะดือ และหัวเหน่า เป็นต้น            ในอดีต โรคเซ็บเดิม นี้พบบ่อยในฝรั่งแต่ปัจจุบันคนไทยมีสภาพความเป็นอยู่คล้ายชาวตะวันตก รวมถึงมีความเครียดสูงขึ้นด้วย ปัจจัยที่ทำให้โรคเซ็บเดิม หรือรังแคของผิวหน้ากำเริบ ได้แก่ ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ผิวหน้าแห้ง ล้างหน้าบ่อยครั้งเกินไป การโดนแสงแดดจัด ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจัด สิ่งเหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดรังแคของผิวหน้ากำเริบได้            การรักษาโรคนี้ คือหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นดังที่กล่าวมาข้างต้น และหากเป็นมากควรพบอายุรแพทย์โรคผิวหนัง เนื่องจากโรคนี้มักเป็น ๆ หาย ๆ ผู้ป่วยจึงไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป เพราะจะทำให้เครียด และโรคยิ่งกำเริบมากขึ้น  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เตือนภัยผิวที่แฝงมากับช่วงฤดูฝน

เตือนภัยผิวที่แฝงมากับช่วงฤดูฝน เตือนภัยผิวที่แฝงมากับช่วงฤดูฝน นพ.มนตรี วงศ์นิราศภัย  อายุรแพทย์โรคผิวหนัง ศูนย์ผิวหนังและเลเซอร์รพ.วิภาวดี        ช่วงฤดูฝนตกแบบนี้ มักเจอกับอากาศที่อับชื้น ทำให้บางครั้งอาจเกิดผื่นขึ้นบนผิวหนังได้ ปัญหาที่พบได้เสมอในช่วงหน้าฝนมักมีสาเหตุมาจากเชื้อรา เนื่องจากลักษณะเฉพาะของเชื้อโรคกลุ่มนี้ที่เจริญเติบโตได้ดีในภาวะที่ชื้นแฉะ ผื่นจากเชื้อรามีหลากหลาย แต่ผื่นที่มักพบได้บ่อยๆมีดังนี้       โรคเกลื้อน มีลักษณะวงด่างๆ สีขาวหรือสีเนื้อ ในบางคนอาจเป็นวงสีน้ำตาล ร่วมกับมีขุยสีขาวเล็กๆ มักเกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณหน้าอกและลำตัว อาจมีอาการคันร่วมด้วยได้ ผื่นชนิดนี้เป็นลักษณะของโรคเกลื้อน ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่นที่สุขอนามัยไม่ค่อยดี ไม่ชอบอาบน้ำ เชื้อเกลื้อนเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Malassezia Furfur สามารถพบได้บนผิวหนังของคนทั่วไป แต่ปกติแล้วไม่ก่อโรค        ในคนที่น้ำหนักมาก หรือภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวาน อาจเกิดผื่นสีแดงขึ้นตามบริเวณข้อพับ เช่น รักแร้ ขาหนีบ หรือใต้ราวนม ร่วมกับมีอาการคันมาก สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อยีสต์ในกลุ่มแคนดิดา (Candida) สามารถรักษาให้หายได้โดยการทายาฆ่าเชื้อราทั่วไป แต่มักเป็นซ้ำได้บ่อย เพราะยีสต์ชนิดนี้พบได้ในร่างกายของคนเรา เช่น บริเวณช่องปาก ระบบทางเดินอาหาร และช่องคลอด       สำหรับบางพื้นที่ที่ฝนตกมาก ๆ อาจมีน้ำท่วมขัง ทำให้ต้องเดินย่ำน้ำชื้นแฉะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรรีบทำความสะอาดเท้า ไม่อย่างนั้นอาจพบว่าผิวตามซอกนิ้วเท้า ลอกเป็นขุยขาวๆ หรือเปียกยุ่ย หรืออาจถึงขั้นเป็นแผล มีน้ำเหลืองแฉะที่ผิว ที่เรียกว่าโรคน้ำกัดเท้า หรือเชื้อราที่เท้า เกิดจากเชื้อกลาก ซึ่งอยู่ตามสิ่งแวดล้อม เช่น หิน ดิน ทราย รวมทั้งในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว ผื่นที่เท้าอาจจะลามไปที่ลำตัวส่วนอื่นได้ ที่พบบ่อยคือทำให้เกิดผื่นบริเวณขาหนีบ เรียกว่า สังคัง        โรคเท้าเหม็น มีลักษณะคือฝ่าเท้าจะเห็นเป็นรูพรุนเล็กๆ หรือเป็นแอ่งเว้าแหว่งตื้นๆ สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง มักพบในผู้ชายที่ใส่ถุงเท้าที่ทำจากใยสังเคราะห์หนาๆ ซึ่งมักจะแห้งยากในหน้าฝน       ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าสาเหตุของโรคส่วนใหญ่มาจากการย่ำน้ำสกปรก หรือปล่อยให้ผิวหนังอับชื้นอยู่เป็นระยะเวลานาน จนทำให้เกิดโรค ดังนั้นการป้องกันอันดับแรกคือ หลีกเลี่ยงการเหยียบย่ำน้ำ หรือตากฝน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อกลับถึงที่พัก ควรรีบถอดเสื้อผ้า แล้วอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย โดยใช้สบู่ หรือสารทำความสะอาดทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อชนิดพิเศษแต่อย่างใดเพราะอาจแรงเกินไป เสร็จแล้วใช้ผ้าซับ หรือใช้พัดลมเป่าให้แห้ง การโรยแป้งฝุ่นสามารถช่วยลดความชื้นและการเสียดสีได้ นอกจากนี้แล้วการใส่รองเท้าแตะบ้างก็ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อราที่เท้าได้เช่นกัน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เตรียมผิวสู้แดด

นพ.ธัญธรรศ  โสเจยยะ  อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง ศูนย์ผิวหนัง รพ.วิภาวดี เตรียมผิวสู้แดด            ในอดีต คนผิวขาวชอบอาบแดด เพราะเชื่อว่าผิวสีน้ำตาลเข้ม หมายถึง ผิวที่มีสุขภาพดี แต่ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า แสงแดดก็มีอันตรายไม่น้อย โดยเฉพาะต่อผิวหนังและดวงตา  เพราะในแสงแดดมีรังสีมากมายแต่จะถูกคัดกรองจากชั้นบรรยากาศ โดยยังมีรังสีอัลตราไวโอเลต เอ และ บี ที่สามารถผ่านลงมาสู่ผิวโลก         ปกติในชั้นบรรยากาศ โอโซน ไอน้ำ เมฆ หมอก จะกรองรังสีไว้บางส่วน ในเมืองจะมีควันฝุ่นมลพิษปริมาณมากที่จะกรองรังสีอัลตราไวโอเลตได้ ดังนั้นปริมาณรังสีอัลตราไวโอเลตในเมืองจะมีน้อยกว่าในชนบท ชายทะเล ที่ท้องฟ้าโปร่ง และในอดีตปริมาณอัลตราไวโอเลต บนผิวโลกจะมีน้อยกว่าปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้อากาศยานสาร CFC อาวุธปรมาณู  ซึ่งทำลายชั้นโอโซน ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตลงมาบนพื้นโลกได้มากขึ้น อันตรายของแสงแดดต่อผิวหนังจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น 1.ความแรงของแสงแดด จะแรงมากในช่วงสิบโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น             2.ระยะเวลาที่โดนแดด ยิ่งโดนนานจะได้รับผลกระทบมากกว่าโดนระยะสั้น ๆ 3.การสะสม คือ โดนแสงแดดบ่อย ๆ ตั้งแต่เด็กจะมีผลระยะยาวมาแสดงอาการตอนโตได้ 4.ลักษณะผิวของแต่ละคน คนผิวขาวจะทนแดดได้น้อยกว่าคนผิวสีเข้ม เพราะคนผิวเข้มจะมีเม็ดสีเมลานิน มีหน้าที่ดูดกรองรังสีไว้ไมให้ลงไปทำลายผิวหนังด้านล่าง อัลตราไวโอเลตจะมีผลต่อผิวหนัง ตั้งแต่มีอาการแสบ ผิวหนังแดงจนถึงไหม้ หลังมีการสัมผัสแดด ไอแดด ก็สามารถทำให้ผิวคล้ำได้ โดยจะทำให้เม็ดสีเข้มขึ้น เช่น กระ หรือฝ้า และอัลตราไวโอเลต เอ ซึ่งมีความยาวคลื่นที่ยาว จะทะลุลงไปในผิวหนังชั้นลึกได้ ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ จะไปทำลายเซลผิวหนังเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและเซลภูมิคุ้มกัน ดังนั้น ผิวหนังจะมีลักษณะบาง เกิดริ้วรอย แห้ง หย่อนคล้อยติดเชื้อง่าย และที่น่ากลัวคือ อนุมูลอิสระจะทำให้โปรตีนพันธุกรรมระดับโมเลกุลในเซลผิดปกติ กลายเป็นเนื้องอกและมะเร็งผิวหนังได้ โดยปกติ ร่างกายคนเราจะมีกระบวนการป้องกันหรือแก้ไข โดยจะทำลายและกำจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น หรือซ่อมแซมโปรตีนพันธุกรรม แต่บางครั้งเมื่ออายุมากขึ้นหรืออนุมูลอิสระที่มีมากเกินไป จะทำให้กระบวนการป้องกันหรือซ่อมแซมของร่างกายไม่สมบูรณ์ การดูแลทั่ว ๆ ไป เริ่มตั้งแต่ทำความสะอาดผิว ใช้สบู่อ่อน ๆ ไม่อาบน้ำร้อน ไม่ขัดผิวรุนแรง ทาโลชั่น หรือ ครีมบำรุง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น การสวมเสื้อผ้าปิดคลุมผิวใส่หมวกปีกกว้าง สวมแว่นตากันแดด เมื่อต้องออกไปสัมผัสแดดแรง ๆ เลี่ยงการสัมผัสแสงแดด ช่วงสิบโมงถึงสี่โมงเย็นทายากันแดด โดยเลือก  ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพมีคุณภาพที่น่าเชื่อถือ ทาซ้ำบ่อย ๆ ถ้ามีกิจกรรมกลางแจ้งหรือเหงื่อออกมาก และทาทุกวันแม้กระทั่งวันที่ไม่มีแดด พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายพอเหมาะ ลดการทานอาหารขยะเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ ทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ และเน้นประเภทวิตามิน เนื่องจากเชื่อกันว่าวิตามินมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ ตอนนี้ก็คงรู้แล้วนะครับว่า ทำไมคนที่อายุเท่า ๆ กัน บางคนถึงดูหน้าอ่อนกว่าวัย และคงเข้าใจภัยของแสงแดดต่อผิวหนัง เพราฉะนั้น เราควรเริ่มดูแลเอาใจใส่ผิวหนังตั้งแต่วันนี้ ในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยดูแล และแก้ไขความผิดปกติของผิวหนัง เช่น ไอออนโตฯ โฟโนฯ กรอหน้า เลเซอร์ คลื่นวิทยุหรือแสง ซึ่งหาได้มากมาย แต่คงต้องเลือกใช้บริการจากสถานที่ที่หน้าเชื่อถือและไว้ใจได้       สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ผิวหนัง 0-2561-1111 กด 1

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะของ ไฝ อย่างไรที่ควรต้องเฝ้าระวัง

ลักษณะของ ไฝ อย่างไรที่ควรต้องเฝ้าระวัง  ไฝ คือ          ภาวะหนึ่งของร่างกายที่บริเวณนั้นๆมีการรวมกลุ่มกันของเซลล์สร้างเม็ดสีหรือเซลล์ไฝ (Nevus cell) ทำให้เห็นไฝเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล อาจเป็นจุดเรียบหรือตุ่มนูน ไฝแบ่งตามชนิดที่เป็นได้ 2 ประเภท 1.                   ไฝตั้งแต่แรกเกิด มักมีขนาดโตตั้งแต่ 5 มิลลิเมตรขึ้นไป เป็นก้อนนูน อาจมีขนขึ้นบริเวณไฝด้วย 2.                ไฝที่เกิดขึ้นภายหลัง มักเป็นบริเวณที่โดนแสงแดด มักมีขนาดเล็ก เรียบ ถ้าเป็นไฝที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ผิวเรียบและไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะเรียกว่า ขี้แมลงวัน ถ้าไฝมีลักษณะนูน โตเร็ว แตกเป็นแผล ควรมาพบแพทย์            ไฝบางประเภทอาจกลายเป็นมะเร็งของผิวหนังได้  สาเหตุที่แน่นอนยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ผิวหนังถูกกับสิ่งกระตุ้นเป็นเวลานานๆ เช่นถูกแสงแดดจัดๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี ถูกถูไถจนเป็นแผลเป็นเวลานาน หรือ ถูกสารเคมี เป็นต้น ลักษณะไฝที่ต้องเฝ้าระวังคือ 1.      Asymmetry       เมื่อแบ่งครึ่งจะไม่สมมาตร ครึ่งหนึ่งของไฝจะแตกต่างจากอีกด้านหนึ่ง 2.      Border             ขอบเขตของไฝไม่สม่ำเสมอ ขอบเขตไม่ชัดเจน 3.      Color                มีหลากหลายสีหรือสีไม่สม่ำเสมอ 4.      Diameter          ขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร 5.      Evolving            ไฝที่มีการเปลี่ยนแปลงของสี รูปร่าง ขนาด โตเร็วผิดปกติ หรือ มีเลือดออก วิธีการรักษา 1.      กรณีไฝอันตราย ควรพบแพทย์เพื่อเก็บตัวอย่างผิวหนัง ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา 2.      กรณีไฝธรรมดาหรือขี้แมลงวัน สามารถกำจัดออกได้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (CO2 Laser) เป็นการใช้ความร้อนจี้เซลล์ไฝออกไป หลังการรักษาแผลจะเป็นสเก็ดอยู่ประมาณ 5-7 วัน             การดูแลผิวหลังทำเลเซอร์หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่จำเป็นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสการเกิดรอยคล้ำ     ข้อมูลโดย: พญ.ชนาทิพย์  ญาณอุบล อายุรศาสตร์  สาขา ตจวิทยา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะของไฝ

ไฝ คือ          ภาวะหนึ่งของร่างกายที่บริเวณนั้นๆมีการรวมกลุ่มกันของเซลล์สร้างเม็ดสีหรือเซลล์ไฝ (Nevus cell) ทำให้เห็นไฝเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล อาจเป็นจุดเรียบหรือตุ่มนูน ไฝแบ่งตามชนิดที่เป็นได้ 2 ประเภท 1. ไฝตั้งแต่แรกเกิด มักมีขนาดโตตั้งแต่ 5 มิลลิเมตรขึ้นไป เป็นก้อนนูน อาจมีขนขึ้นบริเวณไฝด้วย 2.  ไฝที่เกิดขึ้นภายหลัง มักเป็นบริเวณที่โดนแสงแดด มักมีขนาดเล็ก เรียบ ถ้าเป็นไฝที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ผิวเรียบและไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะเรียกว่า ขี้แมลงวัน ถ้าไฝมีลักษณะนูน โตเร็ว แตกเป็นแผล ควรมาพบแพทย์  ไฝบางประเภทอาจกลายเป็นมะเร็งของผิวหนังได้  สาเหตุที่แน่นอนยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ผิวหนังถูกกับสิ่งกระตุ้นเป็นเวลานานๆ เช่นถูกแสงแดดจัดๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี ถูกถูไถจนเป็นแผลเป็นเวลานาน หรือ ถูกสารเคมี เป็นต้น ลักษณะไฝที่ต้องเฝ้าระวังคือ 1.      Asymmetry       เมื่อแบ่งครึ่งจะไม่สมมาตร ครึ่งหนึ่งของไฝจะแตกต่างจากอีกด้านหนึ่ง 2.      Border             ขอบเขตของไฝไม่สม่ำเสมอ ขอบเขตไม่ชัดเจน 3.      Color                มีหลากหลายสีหรือสีไม่สม่ำเสมอ 4.      Diameter          ขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร 5.      Evolving            ไฝที่มีการเปลี่ยนแปลงของสี รูปร่าง ขนาด โตเร็วผิดปกติ หรือ มีเลือดออก วิธีการรักษา 1.  กรณีไฝอันตราย ควรพบแพทย์เพื่อเก็บตัวอย่างผิวหนัง ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา 2.  กรณีไฝธรรมดาหรือขี้แมลงวัน สามารถกำจัดออกได้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (CO2 Laser) เป็นการใช้ความร้อนจี้เซลล์ไฝออกไป หลังการรักษาแผลจะเป็นสเก็ดอยู่ประมาณ 5-7 วัน  การดูแลผิวหลังทำเลเซอร์หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่จำเป็นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสการเกิดรอยคล้ำ   ข้อมูลโดย: พญ.ชนาทิพย์  ญาณอุบล อายุรศาสตร์  สาขา ตจวิทยา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม